โหมโรง SEC ความหวังของคนใต้ จาก ครม.สัญจรชุมพร-ระนอง

by ThaiQuote, 19 สิงหาคม 2561

ทั้งนี้ ดร.สมคิด ได้มอบหมายให้สภาพัฒน์จัดทำแผนการพัฒนาในพื้นที่ของ 3 จังหวัดอย่าง ชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานี เพื่อให้เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควบคู่ไปกับโครงการไทยแลนด์ริเวียร่า ผนวกเป็น 2 โครงการใหญ่เพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของภาคใต้ทั้งด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว รายละเอียดเบื้องต้นของ SEC ตามแนวทางของ ดร.สมคิด จะแบ่งเป็นการพัฒนา จ.ชุมพร ให้เป็นศูนย์กลางของผลไม้ในภาคใต้ เทียบเคียงกับ จ.จันทบุรี ในภาคตะวันออก และจัดให้ท่าเรือระนองเป็นท่าเรือน้ำลึกที่จะเชื่อมไปยังเอเชียใต้และยุโรป หรืออาจเทียบเคียงได้กับท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง ขณะที่ จ.สุราษฎร์ธานี จะเป็นศูนย์กลางด้าน Bio Hub รองรับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมชีวภาพ ด้าน ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึง แนวความคิดเรื่อง SEC ว่าจะต้องรอดูข้อเสนอของภาคเอกชน และความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก โดยรัฐพร้อมที่จะวางนโยบายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ขณะที่ทีมข่าว Thaiquote ได้สอบถามถึงความคิดเห็นของภาคเอกชนในพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งได้ข้อสรุปดังนี้ ท่าเรือระนอง HUP ขนส่ง เชื่อมกลุ่มประเทศ BIMSTEC และยุโรป หากจะถามหาความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้จากคนจังหวัดระนอง หลายคนคงส่ายหน้าที่จะให้คำตอบเรา แต่หากให้พูดถึงโครงการท่าเรือระนอง สนามบินพาณิชย์ รถไฟรางคู่ และโครงการส่วนต่อขยายถนน 4 เลน นี่คือสิ่งที่พวกเขารับรู้ แน่นอนว่าโครงการที่เอ่ยมานี้คือส่วนหนึ่งในแผนพัฒนา SEC นายธีรพล ชลิศราพงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า ท่าเรือระนองจะกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจอีกแห่งหนึ่งของภาคใต้ ซึ่งจะตอบโจทย์กับ EEC ในการเชื่อมโยงการขนส่งจากตะวันออกสู่ตะวันตกไปยังกลุ่มประเทศที่เรียกว่า กลุ่มประเทศผู้ริเริ่ม “BIMSTEC” คือประเทศบังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา รวมไปถึงประเทศในโซนยุโรป ซึ่งการพัฒนาจะต้องควบคู่กับโครงการคมนาคมอื่นๆ คือ ถนนเชื่อมต่อระหว่างชุมพร-ระนอง ในเส้นทางหลังสวน-ราชกรูด เส้นทางรถไฟรางคู่ชุมพร-ระนอง “ขณะนี้การขนส่งทางเรือจากระนองไปสู่ประเทศกลุ่ม BISTEC เริ่มเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่นการขนส่งน้ำตาลที่ในอดีตเคยส่งผ่านด่านแม่สายหรือแม่สอด ปัจจุบันก็มีน้ำตาลจำนวนหนึ่งที่ขนส่งผ่านท่าเรื่อเอกชนของระนอง ในปริมาณประมาณเดือนละ 1.5 หมื่นตัน ซึ่งหากมีท่าเรือระนองรองรับการขนส่งดังกล่าวก็อาจะเพิ่มเป็นเดือนละ 100,000 ตันได้ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าการค้าขายชายแดนที่ปัจจุบันมีมูลค่ารวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นส่งออก 2 หมื่นล้านบาท และนำเข้า 1 หมื่นล้านบาท ขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว” นอกจากนี้ท่าเรือระนองยังจะช่วยเพิ่มงานและอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น รวมทั้งระนองยังเป็นเมืองท่องเที่ยว เมื่อมีการคมนาคมที่สะดวกแล้วมูลค่าการท่องเที่ยวของระนองก็เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย ชุมพรพร้อมเป็น HUP แปรรูปสินค้าเกษตร นายกิตติ กิตติชนม์ธวัช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร กล่าวกับ Thaiquote ว่า ชุมพรเป็นเมืองที่มีการค้าส่งผลไม้เป็นอันดับต้นของประเทศ สิ่งที่ภาคเอกชนและประชาชนอยากได้ คือ โรงงานแปรรูปผลไม้ส่งออกในพื้นที่ ลดต้นทุนการขนส่งไปในพื้นที่อื่น โดยศักยภาพของชุมพรพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ ขณะเดียวกันด้านการประมง ภาคเอกชนต้องการที่จะเสนอโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชุมพรเป็นท่าเรืออเนกประสงค์ เพื่อเชื่อมต่อโครงการแลนด์บริดจ์ ระหว่างชุมพรและระนองไปยังพื้นที่ EEC อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ สภาอุตฯ ชุมพร จะเสนอเรื่องของการขุดคลองเพื่อเชื่อมต่อคลองสาขาระหว่างชุมพร-ระนอง ใช้เป็นทางเดินทางเรือประมง อ่าวไทย-อันดามัน เพื่อการทำอุตสาหกรรมประมงได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเรื่องดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบของกรมประมงที่ห้ามเรือประมงทำประมงในพื้นที่ข้ามจังหวัด อุตสาหกรรมชีวภาพจะแก้ปัญหายาง-ปาล์มราคาตก สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานีอุตสาหกรรมในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นอุตสาหกรรมเดิมๆ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา การทำยางแผ่น และน้ำมันปาล์ม ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีวัตถุดิบที่ได้จากการแปรรูปหลงเหลืออยู่มาก โดยนายดุสิต น่วมนวล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการในสุราษฎร์อยากได้ คือการรื้อฟื้นเรื่องของโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อนำกากวัตถุดิบที่เหลือจากการแปรรูปมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น เศษไม้ยางพารา ทลายปาล์มน้ำมัน “อุตสาหกรรมแปรรูปที่มีอยู่ในพื้นที่ยังคงเป็นแบบดั้งเดิม เช่น แปรรูปไม้ยาง ก็แปรรูปเป็นแผ่นเพียงอย่างเดียว ไม่มีอุตสาหกรรมที่แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือยางพาราที่มีการทำเฉพาะยางแผ่นส่งขาย ไม่มีการแปรรูปเป็นยางล้อรถยนต์ ถุงมือแพทย์ หรือปาล์มน้ำมันที่ยังไม่มีการคิดแปรรูปเป็นอย่างอื่น เราจึงอยากให้สุราษฎร์เป็นเมืองอุตสาหกรรมชีวภาพ ที่มีการแปรรูปผลผลิตด้านการเกษตรเหล่านี้เพื่อการเพิ่มมูลค่า ที่สำคัญนี่คือทางออกของการแก้ไขปัญหายางพาราและปาล์มน้ำมันราคาตกอย่างยั่งยืน” นายดุสิต กล่าว หากจะกล่าวว่าโครงการ SEC เป็นโครงการที่ภาคเอกชนพร้อมที่จะเสนอความต้องการให้รัฐบาลพิจารณา และเป็นความหวังของคนในภาคใต้ก็คงจะใช่ไม่มากก็น้อย และขณะเดียวกัน SEC ก็ถือว่าเป็นโครงการตามแนวคิดที่รัฐบาลมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศเพื่อจัดตั้งพื้นที่คู่แฝดระหว่าง EEC และ SEC หรือนี่อาจจุดประกายความหวังที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ทันในอีก 20 ข้างหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติก็เป็นได้