“พาณิชย์” ชี้ SME ตั้งบริษัทใหม่ใน EEC พุ่ง

by ThaiQuote, 20 สิงหาคม 2561

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในพื้นที่ระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง ในช่วง 7 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.ค.) พบว่า มีการจดทะเบียนตั้งใหม่รวม 4,238 ราย เพิ่มขึ้น 7.45% โดยธุรกิจที่ตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 747 ราย เพิ่ม 17.63% ทุนจดทะเบียน 2,672.05 ล้านบาท เพิ่ม 24.40% ก่อสร้างอาคารทั่วไป 361 ราย เพิ่ม 8.52% ทุนจดทะเบียน 504.60 ล้านบาท เพิ่ม 4.61% ภัตตาคารและร้านอาหาร 169 ราย เพิ่ม 3.99% ทุนจดทะเบียน 256.81 ล้านบาท เพิ่ม 3.26% “ส่วนใหญ่บริษัทที่ตั้งใหม่ จะเป็นพวก SME โดยเฉพาะการตั้งบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างเพิ่มขึ้นมาก เป็นการตั้งขึ้นเพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของเมือง จากการที่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้น และมีประชากรแรงงานเข้ามามากขึ้น ทำให้มีความต้องการด้านที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น และยังมีการลงทุนในด้านร้านอาหาร ที่ขยายตัวตามจำนวนประชากร รวมถึงการลงทุนในธุรกิจภาคบริการเพิ่มมากขึ้น เช่น โลจิสติกส์ การให้บริการด้านที่อยู่อาศัย เป็นต้น” นางกุลณีกล่าว นางกุลณีด้วยกล่าวว่า กรมฯ ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีความเข้มแข็ง โดยจะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME และกลุ่ม Startup ให้มีการนำนวัตกรรมมาใช้ในการต่อยอดและยกระดับสู่ธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยธุรกิจเป้าหมายที่กรมฯ จะเข้าไปพัฒนา เช่น ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์เพื่อรองรับการขยายตัวของการขนส่งในพื้นที่อีอีซี และการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จะมีการใช้บริการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจให้บริการด้านที่พักและการดูแลที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับการขยายตัวการเข้ามาอยู่ในพื้นที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงแรงงานที่จะเข้ามาทำงานในพื้นที่อีอีซี และธุรกิจร้านอาหาร ที่กำลังมีการขยายตัวตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัดในอีอีซีมีนิติบุคคลคงอยู่ 64,921 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1.8 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น จ.ชลบุรี 47,601 ราย คิดเป็นสัดส่วน 73.32% ของนิติบุคคลทั้งหมด จ.ระยอง 12,240 ราย สัดส่วน 18.86% และจ.ฉะเชิงเทรา 5,080 ราย สัดส่วน 7.82% โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการสัดส่วน 61.14% รองลงมา คือ การขายส่งขายปลีก สัดส่วน 23.48% และการผลิต สัดส่วน 15.38% โดยธุรกิจจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับของแต่ละกลุ่ม ได้แก่ การผลิต 1.การกลึงกัดไสโลหะ 860 ราย การติดตั้งเครื่องจักรอุตสาหกรรมและอุปกรณ์ 519 ราย และผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์ 507 ราย ขายส่งขายปลีก 2.ขายส่งเครื่องจักรอื่นๆ 1,447 ราย ขายส่งเครื่องจักรเพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรม 1,077 ราย และขายปลีกวัสดุก่อสร้าง 923 ราย และบริการ 3.อสังหาริมทรัพย์ 11,669 ราย ก่อสร้างอาคารทั่วไป 4,363 ราย และขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร 1,824 ราย ทั้งนี้ มีการลงทุนของต่างชาติในนิติบุคคลไทย 38.51% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด หรือคิดเป็น 6.95 แสนล้านบาท โดยญี่ปุ่นมีสัดส่วนมากที่สุด มูลค่า 3.67 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วน 52.77% รองลงมา คือ จีน 4.3 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 6.22% สิงคโปร์ 2.9 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 4.17%อเมริกัน 2.6 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 3.85% เกาหลีใต้ 1.9 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 2.78% และอื่นๆ 2.1 แสนล้านบาท สัดส่วน 30.21% โดยลงทุนใน จ.ระยองสูงสุด 3.8 แสนล้านบาท รองลงมา คือ จ.ชลบุรี 2.43 แสนล้านบาท และ จ.ฉะเชิงเทรา 7.1 หมื่นล้านบาท