อย.ดันพ.ร.บ.ยาใหม่เข้าครม. แจงเห็นต่างเพียง 10 %

by ThaiQuote, 27 สิงหาคม 2561

จากกรณีที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ที่คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยกร่างและเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยเฉพาะการกำหนดเพิ่มวิชาชีพที่สามารถปรุงและจ่ายยาได้ ซึ่งทางกลุ่มเภสัชกรออกมาต่อต้านว่าเป็นการควบคุมได้ยาก ขณะที่กลุ่มพยาบาลที่ทำงานในรพ.ภาครัฐมองว่ารพ.ในพื้นที่ห่างไกลไม่มีเภสัชกรประจำ พยาบาลจึงต้องรับหน้าที่นี้ หากควบคุมเฉพาะวิชาชีพ อาจจะกระทบกับประชาชนที่ต้องการยา ซึ่งต้องเดินทางเพื่อไปรับยาจากเภสัชกร และถือเป็นการดูถูกวิชาชีพพยาบาลหรือไม่   ล่าสุดวันนี้ (27 ส.ค. ) อย.ได้มีการจัดประชุมชี้แจงเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวที่ห้องประชุมชั้น 9 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการอย. แถลงข่าวภายหลังการประชุมฯว่า จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 77/2559 เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยให้อย.สามารถเก็บค่าการขึ้นทะเบียนได้ และอนุญาตให้ใช้และเพิ่มค่าตอบแทนแก่ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกได้   ดังนั้นอย.จึงยกร่างแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าวอีกครั้งเริ่มตั้งแต่ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจากการประชาพิจารณ์หลายครั้งที่ผ่านมามีความเห็นพ้องกันในการแก้ไขเนื้อหาร่างกฎหมายกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น เรื่องการขึ้นทะเบียนยาเดิมแก้ไขให้มีการทบทวนทุกๆ 7 ปี จากเดิมที่เป็นการขึ้นทะเบียนตลอดชีพซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกเป็นแบบนี้ ส่วนอีกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันอยู่ ซึ่งก็เป็นประเด็นเดิมที่ทำให้การแก้ไขพ.ร.บ.ยาครั้งที่ผ่านๆ ไม่ประสบความสำเร็จ   นพ.วันชัย กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงมองว่าควรมีการเดินหน้าเสนอร่างกฎหมายที่ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันแล้วเข้าไปก่อน ส่วนความเห็นที่ยังไม่ลงตัวกันก็ให้เปิดช่องเขียนไว้ในกฎหมายว่าให้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับแก้ แต่ก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จ หลังได้ข้อสรุปอาจจะพิจารณาในพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ หรือออกเป็นกฎหมายรองก็ได้ ซึ่งจะมีการเสนอร่างกฎหมาย พร้อมแนบความเห็นทั้งหมดไปให้ครม.พิจารณา ทั้งนี้ถ้าดูตามไทม์ไลน์ของรัฐบาลที่ประกาศให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2562 เพื่อมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใหม่ แต่ถ้าเราอยากให้ทันสนช.ชุดนี้ก็ต้องเข้ากฤษฎีกาอย่างช้าภายใน ต.ค.นี้   “ที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ 10 เปอร์เซ็นต์ อาทิ คำนิยามยา ซึ่งยังมีร้านขายยาที่เปิดตามพ.ร.บ.ปี 2510 ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าต้องมีเภสัชกรประจำร้านก็อนุโลมให้เปิดต่อไปได้ แต่ร้านขายยาที่จะเปิดใหม่จะต้องให้มีเภสัชกรประจำ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเปิดเผยโครงสร้างราคายา การจดสิทธิบัตรยา รวมถึงเรื่องวิชาชีพที่อนุญาตให้ปรุงยาและจ่ายยาได้ ซึ่งมีความคิดเห็นให้ลดเหลือเพียงวิชาชีพเดียว และอีกความเห็นก็เสนอให้เพิ่มเป็น 4-5 วิชาชีพที่ปรุงยา จ่ายยาได้ ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าจะลดวิชาชีพ หรือเพิ่มวิชาชีพก็ได้ แต่ย้ำว่างานด้านสาธารณสุขไม่สามารถเดินหน้าได้ด้วยวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง ต้องร่วมมือกัน จึงไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งระหว่างวิชาชีพกัน” นพ.วันชัย กล่าว.