เปิดขั้นตอน‘ไพรมารีโหวต’แบบใหม่!! ตาม ม.44

by ThaiQuote, 29 สิงหาคม 2561

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงรูปแบบการจัดทำไพรมารีโหวตใหม่ ที่จะออกมาในคำสั่งมาตรา 44 เพื่อคลายล็อคพรรคการเมือง ว่า ความจริงยังไม่ได้สรุปว่าจะใช้วิธีการใด แต่จะไม่ใช้วิธีการตามบทเฉพาะกาลใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เพราะเบื้องต้นพบว่าวิธีการที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ไม่ขัดต่อมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ แต่ สนช.ไปปรับให้เป็นไพรมารีโหวต เมื่อมีปัญหา จึงอาจต้องถอยกลับไปเป็นสิ่งที่ กรธ.เคยเสนอ และมีความเป็นไปได้สูง แต่ คสช.ขอดูวิธีการปฏิบัติ ก่อนจะมีความชัดเจนอีกครั้ง   ทั้งนี้ ต้องรอรายละเอียดคำสั่งที่จะออกเป็นมาตรา 44 ซึ่งจะประกาศใช้หลังกฎหมายเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหากดูคำสั่งจะเป็นวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจน เบื้องต้นเป็นไปตามแนวทางที่ กรธ.เสนอ คือ   ให้ทุกพรรคการเมืองตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง จำนวน 11 คน แบ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค 4 คนสมาชิกพรรค 7 คน ทำหน้าที่ไปพูดคุยกับสมาชิกในแต่ละเขตจังหวัด รวบรวมรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง เสนอให้กรรมการบริหารพรรคเลือก ซึ่งถือว่าผ่านการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 45 แล้ว ดีกว่าเมื่อก่อนที่ให้กรรมการบริหารพรรคเลือกผู้สมัครเองทั้งหมด   “หากกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นด้วย ให้ส่งรายชื่อกลับไปที่กรรมการสรรหา เพื่อสรรหาใหม่ และนำมาเสนอกรรมการบริหารอีกครั้ง หากกรรมการบริหารพรรคยังไม่เห็นด้วยอีก ให้กรรมการบริหารพรรคประชุมร่วมกับกรรมการสรรหา เพื่อลงคะแนนลับ เพื่อเลือกผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ ซึ่งวิธีการนี้ถือเป็นการรับฟังความเห็นคิดเห็น ซึ่งจะไม่ขัดมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ และไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของของพรรคการเมือง” นายวิษณุ กล่าว ทั้งนี้ วิธีการนี้ควร รอให้ พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.มีผลใช้บังคับ ไปครบ 60 วันแรกก่อนเพราะ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จะต้องแบ่งเขตเลือกตั้งก่อน เมื่อแบ่งเขตแล้วก็จะได้รู้ว่าใครอยู่เขตไหน จากนั้น 30 วันสุดท้ายให้ดำเนินการทำไพรมารีโหวตในรูปแบบใหม่ ก่อนที่จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งภายในเวลา 150 วัน และการหาเสียงเลือกตั้ง จะเกิดในช่วงเวลานั้น   ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าเวลา 30 วัน ในการทำไพรมารีโหวต ถือว่าน้อยไปหรือไม่ ความจริงต้องการแค่ 15 วัน เพราะสามารถทำได้พร้อมกันทั่วประเทศ ไม่ใช่เดินสายไปทำทีละจังหวัด ซึ่งพรรคการเมืองสามารถเตรียมการได้ตั้งแต่ช่วงที่ กกต.ทำเรื่องการแบ่งเขตอยู่   ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคการเมืองสามารถทำไพรมารีโหวตล่วงหน้าก่อนได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าทำเงียบๆ แล้วมั่นใจในเรื่องเขตการเลือกตั้งแล้ว คงได้ จากนั้นค่อยมาเคาะตามกรอบเวลาที่กำหนด หากทำได้ก่อนก็ดีกับพรรคการเมือง   “เชื่อว่าการทำงาน 30 วันจะเพียงพอ เนื่องจากแต่ละพรรคน่าจะมีตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งไว้อยู่แล้ว ซึ่งสามารถเลือกเป็นตุ๊กตาไปพรางก่อนได้ หรือจะทำในทางลับ เพียงแต่จะเคาะชื่ออย่างเป็นทางการได้ในช่วง 30 วันสุดท้าย” นายวิษณุ กล่าว