ประสานเสียงต่อท่อ “ลมหายใจ”ยางพารา

by ThaiQuote, 12 มกราคม 2559

แต่จนแล้วจนรอดในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็หยิบเอาเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาก่อนจะมีมติในเวลาต่อมา โดยพล.ประยุทธ์กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมได้มีมติตั้งคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ขึ้นมาแต่ยังไม่ครบทั้งคณะ หลังตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ได้แล้วได้สั่งให้ไปแก้ปัญหามาให้ได้ โดยที่รัฐบาลจะลงไปรับซื้อยางพาราจาเกษตรกรโดยตรง ไม่ใช่ไปซื้อจากสหกรณ์ แต่การรับซื้อดังกล่าวก็จะซื้อตามราคาที่ทำให้เกษตรและประชาชนต้องอยู่ได้เช่นกัน เมื่อได้ยางมาก็จะนำไปใช้ ไม่ใช่นำมาเก็บไว้ในคลังเหมือนเดิม ส่วนการดำเนินการอื่น ๆก็จะต้องมีการแก้กฎหมาย กฎระเบียบในด้านงบประมาณเพื่อให้แต่ละหน่วยงานลงไปซื้อได้ แต่จะต้องทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อสร้างให้เกิดความเข้มแข็งในระบบ และทำให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น

                ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวระบุถึงการให้ความช่วยเหลือในการรับซื้อยางเพื่อนำไปใช้ในหน่วยงานตามพันธกิจที่นายกรัฐมนตรีได้มอบไว้จาก 8 กระทรวง อาทิเช่น กระทรวงเกษตรฯเสนอการใช้ยางพารา 25,580.34 ตัน ยางแห้ง วงเงิน 9,763 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบประมาณปกติเพื่อใช้ยางพาราประมาณ 434 ตัน ยางแห้ง วงเงินประมาณ 1,026 ล้านบาท และงบประมาณกลาง เพื่อใช้ยางพาราประมาณ 25,100 ตัน ยางแห้ง วงเงินประมาณ 8,700 ล้านบาท  

ทางด้านกระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการฯกล่าวว่าพร้อมรับซื้อยางพาราประมาณ 3,000 ตัน เพื่อสร้างลานกีฬา เนื่องจากจัดสรรงบประมาณรองรับไว้แล้วในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ การสร้างตุ๊กตายาง รีสแบนด์ เพื่อรณรงค์การท่องเที่ยวรักษ์ประเทศไทย โดยจะพิจารณาจัดสรรเพิ่ม เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการรับซื้อยางพาราในประเทศ  ขณะที่นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม กล่าวว่าคมนาคมพร้อมนำยางพารามาเป็นส่วนผสมการสร้างถนนของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการใช้เป็นส่วนผสมการสร้างถนนตัดผ่านทางรถไฟ และแท่งยางรองรับโครงสร้างถนนตัดผ่าน เพื่อนำยางพารามาใช้มากกว่า 10,000 ตันต่อปี

นอกจากนี้ยังมีการรายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับการนำยางพารา มาใช้ในการก่อสร้างและซ่อมบำรุงถนน ที่ชำรุดเสียหายตามข้อร้องเรียนของประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในปี 2559 และจะพิจารณางานในปีงบประมาณ 2560-2561 ด้วย โดยในเบื้องต้นในปี 2559 คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะนำยางพารามาใช้ในโครงการเหล่านี้จำนวน 20,000 ตัน และจะพิจารณาเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราอีก ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม จะร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอการนำยางพาราไปใช้ทำพื้นยางสนามกีฬา สนามเด็กเล่น เช่นกัน

มาดูทางด้านภาคเอกชนกันบ้าง นายหลักชัย กิตติพล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยฮั้วยางพารา ในฐานะนายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่ามั่นใจหากรัฐบาลออกมาตรการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศเพื่อลดกำลังการผลิตส่วนเกิน จะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ราคาที่ตกต่ำอยู่ขณะนี้ให้ปรับตัวสูงขึ้น   "สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะหาวิธีใช้ยางพาราเพิ่ม เช่น ผสมราดถนน ถ้าผสมได้ 50% ทำถนนทั่วประเทศจะเพิ่มการใช้ยางพาราคาได้ 3 แสนกว่าตันแล้ว"

          พร้อมกันนี้ นายกสมาคมยางพาราไทยยังแนะให้บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด(IRCo) ที่ถือหุ้นโดย 3 ประเทศที่ผลิตยางพาราได้ 70% ของทั้งหมด เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหาได้ผลดีมากขึ้น