เภสัชกรอีสานระดมพล ค้าน พ.ร.บ.ฉบับใหม่

by ThaiQuote, 2 กันยายน 2561

สมาคมศิษย์เก่าเภสัชศาสตร์ภาคอีสาน 3 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมถึง ชมรมเภสัชกรทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น ชมรมเภสัชกรชุมชน ชมรมเภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจงหวัด ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดเวทีแสดงพลังเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ เภสัชกรวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร อุปนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ควรมี 2 เรื่องคือ กระบวนการขึ้นทะเบียนยาที่ต้องรวดเร็วขึ้น และการทบทวนตำรับยา หากไม่เหมาะสมสามารถยกเลิกได้ อีกทั้งการดำเนินงานตาม ม.44 ของ คสช. ไม่ใช่การแก้ไขตามอำเภอใจ และหลักคิดของการร่างกฎหมายควรร่างจากหลักการสำคัญ เช่น การแบ่งประเภทของยาตามระบบสากล ใครเรียนก็ทำได้ อีกทั้งยังต้องแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การขายยาผ่านอีคอมเมิร์ซ และควรมีการศึกษากฎหมายของต่างประเทศ เพื่อให้กฎหมายที่ออกมารอบคอบที่สุด ไม่ใช่การร่างกันเพียง 3-4 คน เท่านั้น โดยยืนยันว่าการออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ครั้งนี้ เพราะห่วงความปลอดภัยของประชาชนในการใช้ยา ไม่ใช่ห่วงวิชาชีพ ด้านเภสัชกรจิระ วิภาสวงศ์ เภสัชกรเชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน กล่าวว่า การคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ยาใหม่ในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นจุดอ่อนหลายจุดในร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ และได้ศึกษาจนแน่ใจว่าไม่ได้ดีกว่า พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 เลย หากจะมีการปรับปรุงกฎหมายใหม่ ควรจะเน้นการแยกบทบาทหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ คือ แพทย์และทันตแพทย์ มีหน้าที่ในการวินิจฉัยโรคและสั่งการรักษา ส่วนการจ่ายยารักษาโรคคือวิชาชีพของเภสัชกร ส่วนสิ่งที่กังวลคือ เรื่องการปรุงยา ซึ่งต้องยอมรับว่าในสถานพยาบาลเอกชน และคลินิก เช่น คลินิกโรคผิวหนัง มีการปรุงยาเพื่อใช้กับคนไข้ของตนเอง โดยเป็นการปรุงยาตามตำรับลับ ซึ่งทุกวิชาชีพไม่ยอมรับการปรุงยาแบบตำรับลับนี้ เพราะเพียงการแบ่งบรรจุยาก็ถือเป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ หากปล่อยให้มีการปรุงยาได้ทั่วไป จะมีความเสี่ยงมากในเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และการจ่ายยาโดยคลินิกของวิชาชีพพยาบาล ซึ่งมีมากในระดับอำเภอ เพราะจากการตรวจสอบของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พบว่ากรอบรายการยาที่ใช้ในคลินิกไม่มีความเหมาะสม ไม่มีการถ่วงดุลและตรวจสอบทางวิชาชีพ ซึ่งจะเกิดผลเสียกับผู้ป่วย