“ทุเรียนมาเลย์” มีดีอะไร ถึงทำให้บัลลังก์ทุเรียนไทยสั่นคลอน.!!!

by ThaiQuote, 3 กันยายน 2561

ด้วยกระแสความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีน และราคาทุเรียนที่น่าดึงดูดใจ ได้ทำให้เกษตรกรของมาเลเซียได้กลิ่นยั่วยวนจนทนไม่ไหว หันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้นในระยะนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ความนิยมปลูกที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะทำให้ทุเรียนป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรนิยมลงทุนมากกว่าการปลูกปาล์มน้ำมัน โดย เมย์แบงก์ กิมเอ็ง รายงานว่า การปลูกทุเรียนให้ผลตอบแทนมากกว่าถึง 9 เท่า เมื่อเทียบกับการปลูกปาล์มน้ำมันต่อ 1 เฮกเตอร์ ขณะที่มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT) มากกว่า 50% ทำให้ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้นในฤดูกาลหน้า     โดยราคาตลาดในมาเลเซีย ขายปลีกกิโลกรัมละ 800 บาท (100 ริงกิต) ราคาปลีกในตลาดเมืองจีน กิโลกรัมละ 1,000-2,000บาท จากข้อมูลของล้งทุเรียนเจ้าใหญ่ใน จ.ระยอง ด้วยหลักการปลูกของเกษตรกรมาเลย์ใช้เวลาปลูก 7 ปีให้ผลผลิต และพยายามลดให้เหลือ 5 ปี แต่ทุเรียนไทยเดี๋ยวนี้ 3-4 ปี ก็ให้ผลแล้ว มาเลย์ปล่อยให้ต้นขึ้นสูงตามธรรมชาติ แล้วปล่อยผลสุกร่วงลงมาเป็นทุเรียนปลาร้า ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนจีนมาเลย์ สิงคโปร์ ฮ่องกง และแผ่นดินใหญ่ แต่กระนั้น พ่อค้าคนกลางชาวสิงคโปร์ บอกว่าชาวสิงคโปร์และชาวมาเลย์ก็ชอบทุเรียนจากไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรสชาติอร่อย เนื้อมีสีเหลืองเข้ม ที่สำคัญราคาถูกกว่าเป็นเท่าตัวอีกด้วย แต่ข้อตกลงฉบับหนึ่งที่อาจส่งแรงกระเพื่อมมากระทบถึงตลาดส่งออกทุเรียนของไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่สุดของจีน คือ การเปิดไฟเขียวให้มาเลเซียส่งออกทุเรียนทั้งผลไปยังจีนได้ถ้าผ่านมาตรฐานการเพาะปลูกของมาเลเซีย (Malaysia Good Agricultural Practice: MyGAP) เสียก่อน โดยก่อนหน้านี้ จีนปิดกั้นการนำเข้าทุเรียนทั้งผลจากมาเลเซียมานานกว่า 10 ปี เพื่อป้องกันศัตรูพืชและสารปนเปื้อน เนื่องจากเกษตรกรมาเลเซียจะรอให้ทุเรียนสุกและหล่นลงมาจากต้นตามธรรมชาติ เนื้อทุเรียนจะเละและกลิ่นแรงต้องรับประทานภายใน 2-3 วันเท่านั้น ทำให้ส่งออกทุเรียนทั้งผลไปยังจีนไม่ได้เพราะไม่ผ่านมาตรฐาน มาเลเซียจึงเลือกที่จะส่งออกทุเรียนในรูปแบบเนื้อทุเรียนแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากทุเรียนเท่านั้น เพราะฉะนั้นการลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ ถือเป็นประเด็นที่ภาคการส่งออกทุเรียนของไทยต้องจับตามองในระยะยาว แม้ว่าข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าการส่งออกสินค้าทุเรียนของไทยไปจีน เฉพาะเดือน เม.ย.เดือนเดียว ไทยส่งออกทุเรียน 120,000 ตัน ในจำนวนนี้ 56,000 ตัน ส่งไปยังจีนขยายตัวมากถึงร้อยละ 700 ทำให้ภาพรวมการส่งออกทุเรียนของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็ตาม ซึ่งก่อนหน้านี้เรียกได้ว่าไทยผูกขาดเป็นเจ้าตลาดส่งออกทุเรียนไปจีนมานานกว่า 30 ปี โดยมีปริมาณการส่งออกทุเรียนไปมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมด นำเงินเข้าประเทศเกือบ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ผ่านมามีกระแสพูดกันมากว่าทุเรียนหมอนทองจากบ้านเรารสชาติถูกปากชาวจีน คำตอบคือ ไม่! เพราะจริงๆ แล้วทุเรียนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนคือทุเรียน “มูซังคิง” ของมาเลเซีย หรือ “เหมาซางหวาง” ในภาษาจีน ซึ่งถือเป็นทุเรียนระดับท็อปของโลกเลยก็ว่าได้ เนื่องจากลักษณะพิเศษของทุเรียนชนิดนี้คือเม็ดลีบ เนื้อหนาและเนียน รสชาติหวานจัด ต่างจากทุเรียนหมอนทอง เนื้อหนาสีเหลืองอ่อนละเอียด เนื้อค่อนข้างแห้งไม่แฉะติดมือ รสชาติหวานมัน เม็ดน้อยและลีบเป็นส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากการเก็บผลผลิตทุเรียนของมาเลเซียไม่ผ่านมาตรฐานการส่งออกทุเรียนทั้งผลไปจีน ทำให้คนจีนต้องหันมาบริโภคทุเรียนหมอนทองแทน เพราะปัจจุบันไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ส่งทุเรียนทั้งผลไปยังจีนได้ อย่างไรก็ตาม เสวียง เจิ้นหัว ผู้ผลิตและส่งออกผลไม้ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน หนึ่งในผู้ผลิตที่หันมาทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอาลีบาบา กล่าวว่า ในแต่ละวัน เขาได้รับการสอบถามสั่งซื้อจากทั่วโลก และธุรกิจเติบโตเร็วอย่างคาดไม่ถึง บริษัท TRL (South East Asia) Sdn Bhd ของเสวียง เจิ้นหัว เพิ่งเข้าร่วมเปิดร้านบนแพลตฟอร์มอาลีบาบา ในปี พ.ศ. 2559 โดยมีรายได้จากการขายทุเรียน มูลค่า 100 ล้านหยวนในปีที่ผ่านมา และยอดสั่งซื้อครึ่งหนึ่งของรายได้นี้มาจากประเทศจีน โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาลีบาบาก็ได้เปิดตัวศูนย์กลางการค้าอิเล็กทรอนิกส์ (eWTP) แห่งแรกในประเทศมาเลเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการและสนับสนุน แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของมาเลเซียอีกด้วย สะท้อนให้เห็นชัดว่า ไทยเราแทบกะพริบตาไม่ได้เลย สำหรับอนาคตของทุเรียนมูซังคิง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจับตามองที่สุดในห้วงเวลานี้ หลังจากสิงห์เฒ่าแห่งคาบสมุทรมลายูอย่าง “มหาธีร์ โมฮัมหมัด” มีแผนการที่จะผลักดันให้มาเลเซียเป็นประเทศที่ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยการนำโมเดลของการส่งออกยางพาราและปาล์มน้ำมันที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตมาปรับใช้กับการส่งออกทุเรียนในครั้งนี้ เป็นหน้าที่ของภาครัฐ ภาคการส่งออกไทยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าจะมีมาตราการรับมือกับข้อตกลงระหว่างจีนกับมาเลเซียฉบับนี้อย่างไร เพื่อรักษาบัลลังก์ไว้ให้ได้ ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก คือโจทย์ใหญ่ที่ต้องทำการบ้านกันอย่างหนักต่อไป (ภาพจาก china daily news)