หายนะของสุรา โรคพิษสุราเรื้อรัง

by ThaiQuote, 10 กันยายน 2561

นอกจากนี้คนที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังหากหยุดดื่มอาจก่อให้เกิดอาการขาดสุรา เช่น มือสั่น หงุดหงิด อาเจียน สันสน หรือประสาทหลอน เป็นต้น โดยผู้ที่ประสบปัญหานี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการบำบัดอย่างถูกต้อง   ผู้ที่เป็นพิษสุราเรื้อรังจะดื่มสุราโดยไม่จำกัด ดื่มได้ตลอดเวลา มักจะปฏิเสธว่าไม่ติดสุรา ดื่มทั้งๆที่รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี หลังจากดื่มไปได้ระยะหนึ่งผู้ป่วยจะเริ่มดื้อต่อแอลกอฮอล์จะต้องปริมาณสุรา  ผู้ป่วยมักจะมีอาการเมาค้างทำให้ไปทำงานไม่ทัน ผู้ป่วยมักจะมีประวัติดื่มสุราตั้งแต่เช้า และมักชอบใช้ความรุนแรงกับครอบครัว   อาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังอาจมีอาการแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไป อาการบ่งชี้ของโรคนี้มี 3 ระยะ ได้แก่   ระยะแรก หันไปพึ่งแอลกอฮอล์เมื่อต้องเผชิญกับปัญหา ต้องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกมึนเมา จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ ไม่ต้องการแบ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับผู้อื่น รู้สึกอยากดื่มแอลกอฮอล์ตลอดเวลา รู้สึกผิดหลังจากดื่มแอลกอฮอล์   ระยะกลาง ไม่สามารถควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ได้ แม้รู้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพ หรือส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในครอบครัว ต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเองออกจากการดื่มแอลกอฮอล์ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปและมีอารมณ์แปรปรวน   ระยะรุนแรง มีอาการขาดสุราเมื่อหยุดดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหงื่อออก ตัวสั่น มือสั่น หงุดหงิด คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย สับสน หัวใจเต้นเร็ว หรือประสาทหลอน เป็นต้น   การรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง การรักษาโรคพิษสุราเรื้อรังมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหยุดดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้   การถอนพิษสุรา อาจเรียกว่าช่วงล้างพิษ จัดเป็นขั้นตอนแรกของการรักษาโรคนี้ โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดดื่มหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับให้ยาบรรเทาอาการขาดสุราควบคู่ไปด้วย   การฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นการเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้จักควบคุมพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของตัวเอง   การให้คำปรึกษาทางจิต เพื่อบำบัดความผิดปกติทางจิตที่เป็นสาเหตุของโรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นการบำบัดแบบกลุ่มหรือการบำบัดรายบุคคล โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์   การรับประทานยา แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายรับประทานยาที่มีฤทธิ์ช่วยให้ไม่อยากดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ ยานาลเทรกโซน ช่วยลดความรู้สึกสุขสมจากการดื่มแอลกอฮอล์ ยาแอคแคมโพรเซส ช่วยปรับสารเคมีในสมองให้อยู่ในระดับปกติ จึงมีความรู้สึกอยากดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง ยาไดซัลฟิแรม ช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และเวียนศีรษะ เป็นต้น   การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ ดังนี้  
  • ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคตับอ่อนอักเสบ เกิดแผลในหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร การดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ลดลง เป็นต้น
  • โรคตับ อาจเกิดโรคหรือความผิดปกติใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตับ อย่างไขมันพอกตับหรือตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ รวมถึงโรคตับแข็งที่อาจส่งผลให้เกิดการสะสมของเสียจำพวกยูเรียจนเกิดพิษต่อสมองได้
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจโต หัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกลูโคสของตับ และอาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตามมา ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กำลังใช้ยาอินซูลินเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดจึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลยิ่งลดต่ำลงจนเป็นอันตราย
  • พัฒนาการทางเพศผิดปกติ ผู้ป่วยชายอาจเสี่ยงต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ส่วนผู้ป่วยหญิงอาจเสี่ยงต่อภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ
  การป้องกันโรคพิษสุราเรื้อรัง โรคพิษสุราเรื้อรังสามารถป้องกันได้ เพียงจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ของตัวเอง โดยทั่วไปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิดมักมีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เท่ากัน โดย 1 ดื่มมาตรฐานของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเท่ากับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ 10 กรัม เฉลี่ยแล้ว 1 ดื่มอาจเท่ากับเบียร์ 360 มิลลิลิตร ไวน์ 150 มิลลิลิตร และสุรา 45 มิลลิลิตร จากคำแนะนำของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 4 ดื่มมาตรฐาน/วัน ส่วนผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 2 ดื่มมาตรฐาน/วัน   นอกจากนั้น วัยรุ่นอาจเป็นวัยที่เสี่ยงต่อโรคพิษสุราเรื้อรังค่อนข้างสูง พ่อแม่จึงควรสังเกตสัญญาณผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูก และปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อป้องกันพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมาะสมของลูก พูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกับลูกเป็นประจำ เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา เป็นต้น เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกในเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ สร้างบรรทัดฐานที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกปฏิบัติตามและเรียนรู้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ   ขอขอบคุณข้อมูล : pobpad.com