อันตรายถึงตาย! 10 สิ่งที่ควร -ไม่ควรทำขณะขับรถ

by ThaiQuote, 13 กันยายน 2559

กับการใช้รถใช้ถนนเมื่อเน้นย้ำเรื่อง “ความปลอดภัย” ก็แล้วความปลอดภัยที่ว่าจะมาจากไหน บอกได้เลย “ควรเริ่มต้นที่ตัวเรา” กับ 10 ข้อง่าย ๆ ที่ไม่ควรปฏิบัติในขณะกำลังขับขี่ยานพาหนะ ที่ควรจำและปฏิบัติให้เป็นนิสัย อย่างน้อยก็เพื่อพื้นฐานความปลอดภัยง่าย ๆ ที่จะลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด

                อะไรที่ควรปฏิบัติ เริ่มต้นจาก 1.ไม่ควรนั่งชิดพวงมาลัยมากเกินไป ถามว่าทำไม นั่นเพราะการกำหนดระยะห่างระหว่างผู้ขับขี่และพวงมาลัยในระยะที่เหมาะสม มีผลกับเรื่องของการควบคุมรถ การเอาตัวไปติดกับพวงมาลัยมาเกินไป จะทำให้ข้อศอกงอมากกว่าปกติ ทำให้หมุนพวงมาลัยไม่ถนัดส่งผลต่อการควบคุมรถ รวมถึงเรื่องความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการกระแทกพวงมาลัย (กรณีเกิดอุบัติเหตุ) และเรื่องของถุงมือนิรภัย ดังนั้นควรกะระยะเผื่อไว้เล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับห่างเกินไปจนควบคุมรถลำบาก เรื่องแบบนี้ เอาความเหมาะสมของตัวผู้ขับขี่เป็นที่ตั้ง เพราะแต่ละคนสรีระร่างกายไม่เหมือนกัน คงต้องกำหนดกันเอาเอง

                 2.ปรับเบาะไม่เหมาะสม สูงเกินไปหรือเอนมากเกินไปอันนี้แน่นอนว่า มีผลต่อทัศนะวิสัยในการขับรถรวมถึงเรื่องของการควบคุมรถด้วย เพราะผู้ขับขี่จะรู้สึกเมื่อยล้าและใช้สายตามากกว่าปกติเมื่อปรับเบาะอยู่ในระดับที่สูงต่ำ หรือเอนนอนหรือตั้งฉากมากเกินไป เอาว่าวิธีปรับง่าย ๆคือเอาพอดี ๆ และมองกระจกได้ชัด แต่ไม่ถึงกับตั้งจนเมื่อหลังเมื่อคอ

3.การปรับหมอนรองศีรษะให้หนุนลำคอ ควรปรับหมอนรองศีรษะหนุนแล้วอยู่กลางหมอน เพื่อเวลาเกิดอุบัติเหตุ ศีรษะจะสะบัดไม่มากทำให้ลดอันตรายที่จะเกิดกับกระดูกต้นคอ

4.การจับพวงมาลัย ควรจับในตำแหน่งที่ถูกต้อง ถูกต้องแบบไหนก็คือจับในตำแหน่ง 10 นาฬิกา ด้วยมือทั้งสองข้างให้ครบทุกนิ้วแต่ไม่ถึงกับต้องเกร็ง เพราะตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นจุดที่ผู้ขับขี่จะสามารถบังคับพวงมาลัยได้มีประสิทธิภาพที่สุดในช่วงเลี้ยวหรือช่วงต่าง ๆในข้อ 4 นี้ก็จะเกิดคำถามตามมาว่ากรณีจะต้องใช้อีกมือเพื่อเข้าเกียร์ โดยเฉพาะเกียร์กระปุกที่จะต้องใช้มือซ้าย (รถขับขวาทั่วไป) จะทำอย่างไร เมื่อใช้มือเปลี่ยนเกียร์แล้วก็รีบกลับมาที่พวงมาลัย แล้วก็บังคับด้วยสองมือเท่านั้นเอง

5.แน่นอนว่าเรื่องต่อเนื่องจากเรื่องที่แล้ว เมื่อต้องเอามือละจากพวงมาลัยก็ไม่ควรที่จะจับคันเกียร์ โดยเฉพาะในเกียร์ออโต้ ที่เมื่อใส่เกียร์แล้วควรถอนมือออกทันทีไม่ควรค้างมือไว้ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายจากการเบรกที่มืออาจพลาดไปผลักคันเกียร์ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งในต้นเหตุของอุบัติเหตุไม่คาดคิด

และหลาย ๆ ครั้ง เวลาสตาร์ทเครื่องออกตัว เมื่อใส่เกียร์แล้วควรปล่อยมือออกจากเกียร์ และดีที่สุดถ้าจะหันกลับมาประคองพวงมาลัยตามข้อที่ 4.

พักจาก 5 ข้อแรกที่ควรและไม่ควรปฏิบัติสำหรับการขับรถ สิ่งที่ควรต้องจดจำและฝึกปฏิบัติไว้ให้เคยชินจนเป็นนิสัย  ย้ำว่าเรื่องแบบนี้ต้องฝึกโดยเฉพาะผู้หัดขับรถใหม่ ๆ ควรที่จะค่อย ๆ หัดให้ชิน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดอุบัติเหตุในช่วงเวลาฉุกเฉินได้ อย่างน้อยก็มีผลทำให้ “หนักจะกลายเป็นเบา”

6. ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นเหตุให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้  เพราะหากเกิดอุบัติเหตุคนขับจะพุงตัวเข้าหาพวงมาลับหรือกระจกหน้ารถแบบเต็มที่ ดังนั้นผู้ขับรถทุกท่านควรคาดเข็มขัดนิรภัยให้เกิดความเคยชิน จนติดเป็นนิสัย

7.เมื่อขับรถนาน ๆเมื่อยล้าจากการใช้เท้าในการเหยียบคันเร่ง ซึ่งบางคนอาจนำเท้าซ้ายมาสลับเหยียบคันเร่งแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายเพราะการวางเท้าที่ผิด มีผลต่อการควบคุมคันเร่งเครื่องยนต์เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ๆ นอกจากนี้สำหรับรถเกียร์ธรรมดา เรื่องของการวางเท้าค้างไว้ที่คลัชก็มีผลทำให้เครื่องยนต์กินน้ำมัน และสึกหรอกเร็วกว่าที่ควร ดังนั้นการวางเท้าจึงเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม

8.การฟังเพลงดัง ๆ หรือคุยโทรศัพท์ (แม้จะใส่อุปกรณ์เสริมก็ตาม) จะทำให้ผู้ขับไม่ได้ยินเสียงผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และมีผลต่อสมาธิในการขับรถโดยตรง (แม้จะมีอุปกรณ์เสริมแล้วก็ตาม) ดังนั้นหากจะคุยโทรศัพท์ไม่ควรคุยในเวลาขับรถ หรือ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ไม่ควรที่จะคุยนานเกินไป 9.การขับรถโดยนั่งไม่จับพวงมาลัยรถยนต์หรือนั่งพิงประตู เมื่อมีเหตุฉุกเฉินกระทันหันจะไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้

 และ10.ไม่ควรทานอาหารหรือทำกิจกรรมใดๆ ระหว่างขับรถ ซึ่งจะเป็นการเสียสมาธิในการขับรถ และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง

ดังที่กล่าวย้ำไปแล้ว 10 ข้อที่ควร และไม่ควรสำหรับการขับรถ ที่น่าจะหันมาให้ความสนใจและค่อยๆ เริ่มฝึกจนเป็นนิสัย ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุได้ อย่างน้อยก็ควรเริ่มที่ตัวเราก่อน เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนท ทั้งเราและผู้อื่น

ที่มา : thaiquote