พาณิชย์แก้ กม.ลิขสิทธิ์คอนเทนต์บนอินเทอร์เน็ต

by ThaiQuote, 17 กันยายน 2561

น.ส.นุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ ได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่) พ.ศ.... และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเสร็จสิ้น ล่าสุดได้เสนอให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว คาดว่าในเร็วๆ นี้กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้ ซึ่งการแก้ไขครั้งนี้เพื่อทำให้การปกป้องคุ้มครองการละเมิดบนอินเทอร์เน็ตมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการแก้ไขใน 3 ประเด็นคือ ความรับผิดชอบผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ในกระบวนการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตแบบแจ้งเตือนและเอาออก (Notice and Takedown), การปรับปรุงบทบัญญัติมาตรการที่เกี่ยวกับละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) สำหรับ Notice and Takedown ได้แก้ไขกรณีเจ้าของสิทธิ์พบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ของตนเองบนอินเทอร์เน็ตในประเทศ เช่น  มีการโหลดเพลง ภาพยนตร์ ละคร ฯลฯ มาโพสต์บนเว็บไซต์ต่างๆ ก็สามารถส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยัง  ISP เพื่อให้ถอดเนื้อหาที่ละเมิดออกจากเว็บไซต์ได้ทันที จาก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับปัจจุบัน เจ้าของสิทธิ์ต้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ISP ถอดเนื้อหาการละเมิดออก ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลานาน จนอาจทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความเสียหายทางธุรกิจ ซึ่งกฎหมายลิขสิทธิ์ปัจจุบัน กว่าจะถอดเนื้อหาละเมิดออกจากอินเทอร์เน็ตได้ต้องใช้เวลานาน ไม่ทันกับการแก้ปัญหา จึงมีแก้ไขใหม่ เพื่อให้การยับยั้งการละเมิดทำได้รวดเร็วมากขึ้น โดยหากเจ้าของสิทธิ์พบว่างานตนเองถูกละเมิดบนอินเทอร์เน็ต ก็ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยัง ISP โดยระบุว่า ตนคือใคร เป็นเจ้าของงานอะไร พบการละเมิดที่ใด เมื่อ ISP เชื่อตามนั้นก็ต้องถอดออกทันที จากนั้น ISP ต้องแจ้งไปยังคนที่เอางานชิ้นนั้นขึ้นเว็บว่ามีผู้แจ้งเป็นเจ้าของสิทธิ์ตัวจริง แล้วให้ถอดงานชิ้นนั้นออก ส่วนประเด็นการปรับปรุงบทบัญญัติมาตรการที่เกี่ยวกับละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีนั้น กำหนดว่า บุคคลใดผลิต ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า จัดหา นำเข้า หรือการค้าโดยวิธีอื่นใด ซึ่งอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการแฮ็กบนอินเทอร์เน็ต เช่น กล่องปลดล็อกรหัสเข้าอินเทอร์เน็ต ให้ถือว่าเป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี จากกฎหมายปัจจุบันที่ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ผลิตและผู้ขายอุปกรณ์เหล่านี้ ขณะที่การเข้าเป็นสมาชิก WCT นั้น กรมฯ อยู่ระหว่างการสมัครเข้าเป็นสมาชิกดังกล่าว แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยบางประเด็นยังไม่สอดคล้องกับสนธิสัญญานี้ จึงต้องแก้ไขให้สอดคล้องกัน โดยได้ขยายระยะเวลาการคุ้มครองงานภาพถ่าย จากกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยปัจจุบัน คุ้มครอง 50 ปีหลังจากสร้างสรรค์ แต่จะขยายเป็นคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และเพิ่มอีก 50 ปีหลังจากเสียชีวิต