เริ่มระบายน้ำลง 13 ทุ่ง-กทม.น่าห่วงเตรียมกระสอบทราย 3ล้าน

by ThaiQuote, 19 กันยายน 2561

วันที่ 19 กันยายน หลังจาก นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 13 จังหวัด เช่นพระนครศรีอยุธยา พิษ​ณุโลก​ สุโขทัย​ ให้เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตของชาวบ้าน  จากการเพาะปลูกพื้นที่ 1.496 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.442 ล้านไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดในเดือนนี้ โดยแยกเป็น ทุ่งบางระกำ เพาะปลูก 3.82 แสนไร่ เก็บเกี่ยวแล้วทั้งหมด สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่ปลูกข้าว 1.114 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.016 ล้านไร่ คงเหลือ 5.3 หมื่นไร่ เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่นาข้าวที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเป็นพื้นที่รองรับน้ำไว้ชั่วคราว จากการตัดยอดน้ำหลาก และเป็นพื้นที่ปล่อยปลาให้เกษตรกร ทำการประมงเป็นรายได้เสริมอีกทาง ซึ่งกรมชลประทานได้เริ่มระบายน้ำลงทุ่งบางทุ่งแล้ว เนื่องจากปีปริมาณน้ำมีมาก โดยระบายลงทุ่งบางระกำ ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระตอนล่าง ได้แก่ ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด กำหนดรับน้ำเข้าทุ่งตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. และทุ่งโพธิ์พระยา กำหนดรับน้ำเข้าทุ่ง ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. สำหรับทุ่งบางระกำ 3.82 แสนไร่ สามารถหน่วงน้ำได้ 550 ล้านลบ.ม.ปัจจุบันได้ผันน้ำเข้าทุ่งบางส่วน 3-4 หมื่นไร่ ความลึกเฉลี่ย 30- 50 เซนติเมตร ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง พื้นที่ 1.15 ล้านไร่ สามารถหน่วงน้ำได้ 1.5 พันล้านลบ.ม. เริ่มรับน้ำเข้าทุ่ง 20 ก.ย.ส่วนทุ่งโพธิ์พระยา เริ่มรับน้ำ 30 ก.ย. ประกอบด้วย 1.ทุ่งเชียงราก พื้นที่รับน้ำ 38,300 ไร่ กระจายน้ำเข้าทุ่ง80 ล้านลบ.ม.แผนการรับน้ำ วันที่ 20 ก.ย. 2.ทุ่งท่าวุ้ง พื้นที่รับน้ำ 45,700 ไร่ รับน้ำ 84 ล้านลบ.ม. 3.ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก 72,680 ไร่ รับน้ำ 116 ล้านลบ.ม. 4.ทุ่งบางกุ่ม 83,000ไร่ รับน้ำ 130 ล้านลบ.ม. 5.ทุ่งบางกุ้ง 17,000 ไร่ รับน้ำ27 ล้านลบ.ม. 6.ทุ่งบางบาล-บ้านแพน 33,450 ไร่ รับน้ำ107 ล้านลบ.ม. 7.ทุ่งป่าโมก 20,854 ไร่ รับน้ำ 50 ล้านลบ.ม. 8.ทุ่งผักไห่ 124,879 ไร่ รับน้ำ 200 ล้านลบ.ม. 9.ทุ่งเจ้าเจ็ด 350,000 ไร่ รับน้ำ 500 ล้านลบ.ม. 10.โครงการโพธิ์พระยา 167,351 ไร่ รับน้ำ160 ล้านลบ.ม. รับน้ำ30 ก.ย. 11.โครงการฯพระยาบรรลือ 95,494 ไร่ รับน้ำผ่านทุ่ง 100 ลบ.ม.ต่อวินาที 12.โครงการฯรังสิตใต้ 101,190 ไร่ รับน้ำผ่านทุ่ง 80 ลบ.ม.ต่อวินาที รวม 13 ทุ่ง 1,531,898 ไร่ กระจายน้ำเข้าทั้งหมดกว่า 2 พันล้านลบ.ม. ด้านกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมบริหารจัดการน้ำเหนือคลองแสนแสบเขตมีนบุรี พบว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีน้ำมาก กว่า 200 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา และด้วยพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตลุ่มต่ำ จึงทำให้มีปริมาณน้ำตามคูคลองและน้ำในทุ่งสะสมปริมาณมาก ส่งผลให้น้ำในคลองแสนแสบสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องใช้เวลาระบายน้ำออกจากพื้นที่ ซึ่ง หากฝนตกหนัก น้ำก็จะมาเติมเต็มในพื้นที่อีก กรุงเทพมหานคร จึงประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานในการควบคุมปริมาณน้ำที่ระบายลงมา ก่อนที่จะผ่านพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและออกสู่อ่าวไทย   ที่น่าเป็นห่วงคือบริเวณโซนทิศตะวันออก ทั้งเขตมีนบุรี หนองจอก คลองสามวาที่ เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ระดับน้ำสูงขึ้นกว่าปกติ ที่ระดับ+0.92 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่วันนี้ลดลงไป 5 เซนติเมตร อยู่ที่ 0.87 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ต้องเฝ้าระวังฝนที่ตกลงมาเรื่อยๆ เพราะระดับเตือนภัยอยู่ที่ 0.90 เมตร ยืนยันว่าสามารถรับมือสถานการณ์ได้ และไม่ถึงขั้นที่ทำให้เกษตรเสียหาย อย่างไรก็ตาม กทม.ได้เตรียมกระสอบทรายไว้ กว่า 3 ล้านกระสอบเพื่อรองรับสถานการณ์ และเบื้องต้นยังได้สั่งให้สำนักการระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำสแตนบายไว้หลายจุด พร้อมประสานกับจังหวัดใกล้เคียง ประชุมร่วมกัน เพื่อวางมาตรการป้องกัน หากระดับน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครเกินกว่าขั้นวิกฤต และต้องระบายน้ำออกจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำ และย้ำว่าสถานการณ์น้ำตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครอยู่ที่ 3ปัจจัยหลัก คือ ปริมาณน้ำเหนือ น้ำหนุน และน้ำฝน ซึ่งน้ำเหนือและน้ำหนุนปริมาณน้ำสะสมยังไม่น่าเป็นห่วง มีเพียงปริมาณน้ำฝนเท่านั้นที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง