อีกไม่นาน อาจต้องรับมือ'ดอกเบี้ยสูง'

by ThaiQuote, 20 กันยายน 2561

ระดับดอกเบี้ยในประเทศไทย อยู่ในอัตราต่ำตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ซึ่งก่อนหน้านั้น ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับสูงกว่า 7% เงินกู้สูงวกว่า 10% มาตรการดอกเบี้ยต่ำถูกนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจมายาวนาน 20% และด้วยแรงบีบทางเศรษฐกิจ ไทยไม่อาจขยับอัตราดอกเบี้ยได้   ภาคอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ การลงทุน และอีกหลายภาคส่วน รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อย รายใหญ่ เกษตรกรที่กู้เงินมาลงทุน มาสร้างกิจการ มาทำการผลิตสินค้า ได้อานิสงค์จากดอกเบี้ยต่ำ การซื้อขายบ้านเริ่มต้นดอกเบี้ย 4% ทำให้เกิดศักยภาพในการซื้อ ราคาบ้าน คอนโดฯ 2 ล้านผ่อนเดือนละหมื่นกว่าบาท คนทำงานเดือนละ 3-4 หมื่นมีกำลังซื้อ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ซึ่งภาวะแบบนี้ หากมีการปรับเปลี่ยนจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดความไม่แน่ใจ ความชะงักงันในการบริโภค   ขนาดดอกเบี้ยต่ำหลายคนก็ชักหน้าไม่ถึงหลัง หากเพิ่มดอกเบี้ยอีก อาจจะลำบากันมากขึ้น   ที่น่าสนใจในมติของ กนง.ล่าสุด ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% ต่อปี แม้จะคงอัตราไว้ ในดูจากภายในแล้ว น่าวิเคราะห์พอสมควร   มติ 5 ต่อ 2 เสียง เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ก่อนหน้านี้ มติ 6:1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ มติ 5:2 เท่ากับมีคนเห็นด้วยให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 1 คน   เหตุผลของกรรมการฯที่ต้องการให้ขึ้นดอกเบี้ย จำนวน 0.25% ต่อปี เป็น 1.75% ต่อปี เพราะเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอ โดยภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานานส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร จึงต้องมีการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน   แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 2 รอบ ส่งผลให้เกิดความผันผวน มีการดึงเงินกลับไปสู่ดอลล่าร์ทั่วโลก ไทยได้รับผลกระทบอยู่ระยะหนึงในตลาดหลักทรัพย์   ส่วนฝ่ายที่ต้องการให้คงอัตราดอกเบี้ยต่อไป เห็นว่า การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ จะเป็นนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ   ฝ่ายเสียงส่วนใหย่มองว่า แม้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นการเติบโตจากการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงบ้างจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยด้านรายได้และการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น แต่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะทำให้การฟื้นตัวมีความค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ อาทิ โครงการรถไฟรางคู่ระยะที่ 2, รถไฟฟ้าสายสีม่วง, รถไฟชานเมืองเส้นทางบางซื่อ-รังสิต   ประเด็น ‘หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง’ เป็นประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม หากมีการปรับอัตราดกอเบี้ย คนที่ได้รับผลกระทบคือ ชาวบ้าน คนทำงาน ที่ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนเงินกู้ต่างๆ   หากไปดูในรายละเอียดของการเติบโตทางเศรษฐกิจ กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยมีเเนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยประเมินว่าปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4.4% โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 9% การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 6.1% ลดลงจากเดิมที่ 8.9% การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 3.7% การบริโภคภาคเอกชนอยู่ 4.2% และจำนวนนักท่องเที่ยว 38.3 ล้านคน   ตัวเลขนี้ ตัวที่ฉุดให้ตัวเลขการเติบโตสูงก็คือ การส่งออกและการลงทุนภาครัฐ ส่วนการลงทุนภาคเอกชน และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ยังอยู่ในอัรตราค่าเฉลี่ย ไม่ได้เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจนัก   เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่ 2 เรื่องที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ 1. นโยบายกีดกันทางการค้า ที่สุดท้ายแล้วจะต้องดูว่าได้ข้อตกลงที่ชัดเจนหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไทยและจะเห็นผลกระทบชัดเจนในปี 2562 ซึ่งถ้าไม่มีปัจจัยเรื่องสงครามการค้าส่งออกปี 2562 จะขยายตัวได้มากกว่า 5% และ 2. การจัดการเลือกตั้งทั่วไป ที่สุดท้ายแล้วต้องดูว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งการประมาณการล่าสุดยังไม่ได้รวมปัจจัยด้านการเลือกตั้งเข้าไป   ตามรายงานของกนง. จะเห็นว่า การใช้มาตรการผ่อนคลายทางนโยบายการเงิน หรือนโยบายดอกเบี้ยต่ำ  จะลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ ในการประชุมคราวหน้า หรือต้นปีหน้า เราอาจจะได้เห็นมติกนง.ให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย   เมื่อดอกเบี้ยเพิ่ม จะส่งผลให้ บรรดาผู้มีหนี้ครัวเรือน ผู้ประกอบการSMEs และผู้ลงทุนทั้งหลาย อาจจะต้องรับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องนำไปบวกกับราคาสินค้า ซึ่งกระทบต่อเงินเฟ้อ ในอนาคตอีกไม่ไกลจะต้องรับมือกับเรื่องพวกนี้กัน