ศึกที่ดิน’โยธะกา’ทหารเรือต้องการใช้เพื่อความมั่นคง?

by ThaiQuote, 6 ตุลาคม 2561

ซึ่งยังไม่ชัดว่าจะใช้ในรูปแบบใด แต่ชัดเจนว่ากองทัพเรือต้องการขอคืนพื้นที่ และยังเลือนลางในการตกลงกับชาวบ้านในการที่จะออกไปแล้วจะไปอยู่ที่ไหนอย่างไร? ฉายภาพประวัติตำบลโยธะกา ซึ่งแยกมาจากตำบลดอนเกาะกาและตำบลหมอนทอง เมื่อปี พ.ศ.2480 สมัยก่อนชาวบ้านเรียก”แม่น้ำนครนายก”ว่า “แม่น้ำโยธะกา” เนื่องจากมีต้นโยธะกาซึ่งเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งดอกสีชมพู ฝักคล้ายกระถินขึ้นเรียงรายตามสองฝั่งแม่น้ำ ปัจจุบันนี้ต้นไม้ดังกล่าวเคยสูญหายไป แต่ชาวบ้านยังมีที่เพาะต้นกล้าขึ้นมาใหม่ ชาวบ้านจึงเรียกแม่น้ำโยธะกาว่า แม่น้ำนครนายกตามชื่อเดิม ส่วนชื่อตำบลโยธะกานั้นเป็นชื่อที่ใช้เรียกตามชื่อแม่น้ำโยธะกาซึ่งไหลผ่านตำบล   พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมคลองชลประทานและแม่น้ำนครนายก ซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดนครนายก มีเขตการปกครอง 12 หมู่บ้าน สำหรับเขตพื้นที่ ทิศเหนือ ติดกับ ต.บางสมบูรณ์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ทิศใต้ ติดกับ ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ทิศตะวันออก ติดกับ ต.สิงห์โตทอง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ทิศตะวันตก ติดกับ ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี   และอาชีพหลักๆของชาวบ้านคือทำนารวมทั้งเลี้ยงกุ้งกุลาดำ   และจากกระแสข่าวที่ต่อเนื่องนี้ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้นำพาสื่อมวลชนส่วนกลาง รวมทั้งหน่วยงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ลงดูพื้นที่จริงและพูดคุยกับชาวบ้าน สิ่งที่เห็นเป็นภาพพื้นที่ท้องนากว้างใหญ่ ส่วนที่สำรวจเป็นพื้นที่หมู่ 11 ของตำบล ซึ่งมีการจัดเวทีเสวนาเพื่อรับฟังปัญหาและความกังวลใจของชาวบ้านในพื้นที่  จากการรับฟังข้อมูลเบื้องต้นจากชาวบ้าน พบว่า ทางทหารเรือยังไม่เคยเข้ามาพูดคุยโดยตรงกับชาวบ้าน ทั้งนี้ส่งเพียงทหารระดับปฏิบัติมาลงพื้นที่สำรวจและคุยกับชาวบ้านบ่อยครั้ง พื้นที่ที่ทางทหารเรือต้องการใช้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน พื้นที่ส่วนหนึ่งนั้น จะใช้ในการตั้งเสาสัญญาณเรดาร์ 250 ไร่ แหล่งข่าวกรมธนารักษ์จ.ฉะเชิงเทรา ได้กล่าวว่า ในเชิงนิติศาสตร์ ชาวบ้านอาจจะชนะในทางการสู้คดี เพราะกองทัพเรือจะเอาไปใช้เรื่องความมั่นคง และทางกองทัพได้ยื่นคำร้องขอเอารับมอบอำนาจการฟ้องร้องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราจากกรมธนารักษ์ แต่ทางกรมธนารักษ์ ได้หาทางออกให้ว่า ทางกองทัพเรือจะต้องจัดพื้นที่ให้ชาวบ้านเบื้องต้น 300 ไร่ ซึ่งได้ชี้แจงไปด้วยว่า ชาวบ้านอยู่อาศัยมากยาวนาน การฟ้องดำเนินคดีขับไล่ในเวลานี้จะไม่เกิดผลดีกับทางราชการ https://youtu.be/J3zIzQKGZUs ด้าน คุณพรพนา ก๊วยเจริญ กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai) นักวิชาการที่ติดตามเรื่องราวนี้ ได้อธิบายถึงประเด็นปัญหาว่า พื้นที่ดังเดิมเป็นของเจ้าจอมมารดาแพ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และชาวบ้านเข้ามาอาศัยใส่เช่าทำนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอย่างต่ำ 3-4 รุ่นชั่วอายุคน จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านรุ่นแรกเข้ามาบุกเบิกจากป่าปรือเป็นไร่นาอย่างที่เห็น เมื่อทหารเรือมาซื้อที่ดินเหล่นี้ต่อจากหมอชัยยุทธ กรรณสูต ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท อิตาเลียนไทย ซึ่งไปซื้อมาจากนางต้นห้องเจ้าจอมมารดาแพ เมื่อปี 2491 ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเตรียมเสบียงสำหรับกองทัพ ทำให้เห็นว่าชาวบ้านหรือชาวนาเช่าที่ดินมานานแล้ว ทำให้ฝ่ายวิชาการที่เข้ามาสนับสนุนชาวบ้านมีความจำเป็นที่ต้องขอให้กองทัพเรือพิจารณาข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ที่ดินร่วมไปด้วย ระหว่างที่มีการพูดคุยกับชาวบ้านนั้น พล.ต.วรยุทธ แก้ววิบูลย์พันธุ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11พร้อม พล.ต.พณิชย์ ศิริพละ รองผอ.กอ.รมน.จังหวัดฉะเชิงเทรา ค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา และกำลังทหารจำนวนหนึ่ง รวมทั้งนายประเทือง สุขเกษม นายอำเภอบางน้ำเปรี้ยว นายเฉลิมพล ต.สุวรรณ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด และเข้ายังวงสนทนา โดย พล.ต.วรยุทธ ได้กล่าวว่า ทหารบกจะอยู่เคียงข้างประชาชนโดยที่จะไม่มีใครเข้ามาไล่รื้อบ้านเรือนของราษฎรออกไปจากพื้นที่โดยเด็ดขาด โดยเชื่อว่าที่ผ่านมาตามที่มีประกาศออกมาเพื่อบังคับให้ชาวบ้านออกไปให้พ้นพื้นที่ภายใน 7 วันนับตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2557 หลังจากธนารักษ์พื้นที่งดเข้ามาเก็บเงินค่าเช่าที่ดินจากชาวบ้านจำนวน 166 ครัวเรือนที่อาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่เป็นเพียงการทำไปตามกระบวนการขั้นตอนของหน่วยงานในระบบราชการ และหากทางกองทัพเรือจะเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่จริงๆ จะต้องมีการเข้ามาเจรจาพูดคุยตกลงกันกับชาวบ้านและเยียวยาหรือจัดหาที่อยู่ที่ทำกินให้ใหม่โดยที่จะไม่มีใครเข้ามาไล่รื้อถอนบ้านเรือนของชาวบ้านออกไปอย่างเด็ดขาด ซึ่งตนจะเป็นตัวกลางในการประสานให้ทางกองทัพเรือเข้ามาเจรจาพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจนต่อไป https://youtu.be/M9J4YIcKgaA นอกจากนี้ ยังพบเรื่องไม่สมควรจะเกิดขึ้น นั่นคือ มีผู้อ้างตัวว่าเป็น นายกสมาคมสื่อมวลชนจังฉะเชิงเทรา พยายามที่จะคุคามทางวาจา ในทำนองที่ว่า กลุ่มคนจากกรุงเทพฯที่มาพูดคุยกับชาวบ้านมีสื่อมวลชนปลอมมาด้วย จนทำให้เกิดการพูดคุยชี้แจงกันเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกว่า สื่อฯที่อ้างตัวนี้ มากับทางทหาร   เมื่อทหารกลับไปแล้ว ทีมผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปพูดคุยกับ 2 ครอบครัว ของนายประกอบ สิงหนาท และ นายรัก สิงชัยละ จากการพูดคุยทั้ง 2 ครอบครัว ต่างยืนยันความต่อเนื่องของการอยู่บนแผ่นดินโยธะกา ตั้งแต่อดีตที่บรรพบุรุษเข้ามาตั้งรกรากที่นี่ ซึ่งหลักฐานที่เห็นคือ ภาพบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ปีเกิดของแต่ละท่านชี้ชัดถึงต้นธารที่สืบต่อมาอย่างยาวนาน ส่วน คุณยศ ชาวบ้านในพื้นที่ได้เล่าว่า ทหารเรือเคยเข้ามาใช้พื้นที่บ้างแล้ว ในการซ้อมรบคอบบร้า โกล์ด และปิดพื้นที่ไม่ให้ชาวบ้านเข้าออก รวมทั้งการใช้เรือมาซ้อมในแม่น้ำที่ติดกับหมู่บ้าน ส่วนการสำรวจพื้นที่ของทหาร ชายคนนี้เล่าต่อว่า ช่วงก่อนหน้านี้ทหารเรือจะมาบ่อยมาก แต่จะเป็นทหารระดับปฏิบัติมากกว่าชั้นสัญญาบัตรที่ตัดสินใจได้ ในเชิงกดดันชาวบ้านให้ย้ายออกเพราะเจ้าของที่จะต้องใช้ในเรื่องความมั่นคง ก่อนที่จะปิดท้ายการลงพื้นที่ครั้งนี้ที่วัดพลอยกระจ่างศรี วัดที่อยู่คู่พื้นที่มาอย่างยาวนาน ซึ่งในวัดก็มีหลักฐานการตั้งรกรากของชาวบ้าน คือโกศกระดูกบรรพบุรุษภายในวัด ที่มีตั้งแต่เก่าแก่จนใหม่สุด บ่งบอกถึงการสืบสายคนในพื้นที่รุ่นแล้วรุ่นเล่าบนแผ่นดินโยธะกา เป็นคำให้การผ่านห้วงเวลาที่ล่วงลับไปแล้ว... จากนี้ ศึกโยธะกา ยุคใหม่ จะจบลงที่ความพ่ายแพ้แบบ กรมหมื่นเทพพิพิจ สมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 หรือจะชนะยืนหยัดบนพื้นผืนนาของบรรพบุรุษได้ต่อไป ต้องจับตา!!!!   เรื่องโดย วรกร  เข็มทองวงศ์
Tag :