3 เหลี่ยมเศรษฐกิจชายแดนใต้ “โจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องเข้าให้ถึง”

by ThaiQuote, 7 ตุลาคม 2561

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สรุปข้อมูลภาวะเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในไตรมาส 2 ปี 2561 พบว่าภาคการเกษตรมีการหดตัวจากเดิมเล็กน้อย ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร และการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้น หลังการประกาศผลการเลือกตัวทั่วไปของมาเลเซียเมื่อเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.9 “สถานการณ์การเมืองในมาเลเซียที่ได้รัฐบาลใหม่ มีผลทำให้สถานการณ์การค้าชายแดนกระเตื้องขึ้นมาใกล้เคียงภาวะเศรษฐกิจเดิม แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ เรายังไม่มีกลไกใหม่ในพื้นที่จะช่วยสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนใต้มีความยั่งยืน ดังนั้นสิ่งที่เรามองถึงคือโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน (ปี 2560 – 2563) ซึ่งมีมติ ครม.เห็นชอบหลักการ เมื่อวันที่ 4 ต.ค.59” ขณะที่รายงานจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ระบุว่า พื้นที่ของจังหวัดชายแดนใต้มีความก้าวหน้าด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในพื้นที่ภายใต้การขับเคลื่อนของรัฐบาลในโครงการสานพลังประชารัฐและโครงการต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน โดยเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 60 ถึงปลายปี 61 ที่มีมากถึง 1.5 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 4,600 ล้านบาท รวมถึงมูลค่าการค้าชายแดนทั้ง 3 จังหวัดเพิ่มขึ้น อาทิ จังหวัดยะลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.98 สำหรับโครงการเมืองต้นแบบ ดังกล่าว มีแนวทางการดำเนินการตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) โดยร่วมกับ ศอ.บต. มีกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ 1.อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร 2.อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้ง Free Trade Zone ก่อสร้างสะพานโก-ลกแห่งที่ 2 3.อ.เบตง จ.ยะลา เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวครบวงจร “โมเดลการพัฒนาส่วนหนึ่งของกลุ่มจังหวัดคือ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจชุมชน นี่คือกลไกสำคัญที่คนในท้องถิ่นต้องร่วมกัน หากจะมุ่งหวังด้านการเกษตรเพียงอย่างเดียวคงจะไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังจะทำคือการพัฒนาด้านบริการเพื่อเข้าสู่ตลาดอาเซียนทางตอนล่าง ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ น่าจะเป็นกลไกใหม่ที่คนในพื้นที่จะต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นนักรบทางการค้า” ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาสกล่าว ขณะที่ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานก็ยังมีอยู่นั่นคือเรื่องของความไม่คุ้มค่าในการใช้งาน กล่าวคือ ที่ผ่านมานับ 10 ปีที่รัฐบาลได้สร้างถนน 4 เลนเพื่อเชื่อมโยงจากท้องถิ่นสู่ภายนอก ในขณะที่การพัฒนาท่าอากาศยานเบตงกำลังคืบหน้า ในส่วนสนามบินนราธิวาสมีการขยายรันเวย์เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีศักยภาพการรองรับเที่ยวบินที่สูงกว่าหากเปรียบเทียบกับท่าอากาศยานโกตาบารูในประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีระยะห่างประมาณ 40-50 กม. โดยโกตาบารูมีเที่ยวบินให้บริการไม่ต่ำกว่า 20 เที่ยวต่อวัน ขณะที่นราธิวาสเองมีแค่ 4 เที่ยวต่อวัน เมื่อพูดถึง “นักรบทางการค้า” ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาสได้กล่าวถึงปัญหาอีกประการหนึ่งในขณะนี้คือ การขาดแคลนบุคลากรในภาคเศรษฐกิจ เนื่องจากภาคแรงงานส่วนใหญ่ภายในจ.นราธิวาส ทำงานในภาคส่วนของความมั่นคง “ปัญหาที่ภาคเอกชนหนักใจอยู่ในขณะนี้คือ การขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจเนื่องจาก ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ภาคในของความมั่นคง โดยมีอัตราค่าจ้างประมาณคนละ 17,000-18,000 บาท ซึ่งหากเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างในภาคธุรกิจถือว่าอยู่ในขั้นที่สูงเลยทีเดียว” นายปกรณ์ กล่าว นี่จึงเป็นปัญหาที่ภาครัฐจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ จากการที่สภาพัฒน์เสนอแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนภาคใต้ คือการลงทุนจากภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาเห็นชอบการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา อ.สะเดา จ.สงขลา บนพื้นที่ราชพัสดุ 927 ไร่ โดยปัจจุบันทำสัญญาเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์แล้วประมาณ 629 ไร่ เป็นเวลา 50 ปี ก่อนที่ระยะที่ 2 จะทำสัญญาเช่าทั้งหมด คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,890 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน การลงทุน และมูลค่าเพิ่มจากความต้องการวัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อใช้ในการผลิต โดยมีอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรเป็นพื้นฐานหลัก ขณะที่การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวจะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงบุคลากรในภาคความมั่นคงสู่ภาคเศรษฐกิจ ข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.thaiquote.org/content/41723 https://www.thaiquote.org/content/42106 https://www.thaiquote.org/content/41819