สัตวแพทย์ชี้คนทิ้ง สัตว์เลี้ยง ทะลุ 1 ล้านตัว

by ThaiQuote, 11 ตุลาคม 2561

นายสัตวแพทย์ ธีระวุฒิ สุวัธนะเชาว์ ผู้อำนวยการกองสวัสดิภาพสัตว์ และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง กรณี ครม.อนุมัติในหลักการของร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอ เพื่อเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ที่ต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง และค่าธรรมเนียมปรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่เกิน 25,000 บาทว่า เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นี้ แต่ยังมีรายละเอียดที่อาจจะสร้างความสับสนให้กับประชาชนอยู่บ้าง โดยเฉพาะประเด็นของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมฯ ที่จะให้อำนาจท้องถิ่นในการออกประกาศข้อบังคับเพื่อใช้ในท้องถิ่นตัวเอง ไม่ใช่บังคับทั่วประเทศ ซึ่งหมายความว่า ท้องถิ่นจะต้องพิจารณาถึงปัญหาสัตว์ถูกทิ้ง หรือถูกทารุณกรรมตามบริบทในพื้นที่ตัวเอง นายสัตวแพทย์ ธีระวุฒิ กล่าวว่า ยกตัวอย่างเช่น ในกรุงเทพมหานคร หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ ปัญหาสัตว์จรจัดมีจำนวนมากก็จะสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชน หรือตัวสัตว์เองก็มีสุขภาพที่ไม่ดี แต่ชนบทห่างไกลจะไม่มีปัญหานี้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องออกข้อบังคับขึ้นมาใช้ในพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวจะให้อำนาจของแต่ละท้องถิ่นออกประกาศตามความเหมาะสม "ชนบทท้องถิ่นห่างไกลไม่มีปัญหามากนัก ซึ่งอาจใช้วิธีทำหมันตามปกติ แต่สำหรับชุมชนเมืองแค่ทำหมันสัตว์อาจไม่พอ เพราะมีคนเอาสัตว์มาทิ้งอยู่ตลอด หน่วยงานราชการมาคุมกำเนิดให้เท่าไหร่ก็พอ เพราะปริมาณการทิ้งสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ" นายสัตวแพทย์ ธีระวุฒิ กล่าวย้ำ นายสัตวแพทย์ ธีระวุฒิ กล่าวว่า ข้อดีอีกอย่างของกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ที่ได้รับการแก้ไขจากครม. คือ จะให้ผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขและแมวต้องขึ้นทะเบียนสัตวในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งจะต้องดูตามประกาศในแต่ละท้องถิ่นว่ามีระบบการขึ้นทะเบียนสัตว์อย่างไร เช่น กรุงเทพฯ จะใช้วิธีฝังไมโครชิพ ข้อดีคือจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลสัตว์กับเจ้าของสัตว์ไม่ได้ หากตรวจสอบก็จะทราบทันทีว่าสัตว์ตัวนี้เป็นของใคร หรือหากเกิดหายไปก็สามารถนำส่งคืนเจ้าของเดิมได้ นอกจากนี้ ในส่วนการขึ้นทะเบียนสัตว์นั้น มีข้อกำหนดค่าธรรมเนียมคำร้องขอขึ้นทะเบียนไม่เกิน 450 บาท แต่ท้องถิ่นจะเก็บเต็มจำนวน หรือไม่เก็บก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ เช่นกัน "ขณะนี้ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย ก็เห็นร่วมกันแล้วว่าจะต้องมีศูนย์พักพิงสัตว์จรจัดขึ้นมา เพื่อให้เกิดการเลี้ยงดูที่เหมาะสมและให้สัตว์จรจัดใช้ชีวิตในศูนย์พักพิงแห่งนั้น ข้อดีคือ คนที่รักหมารักแมวและชอบให้อาหารตามจุดที่มีหมาแมวจรจัดเยอะ ก็ไม่ต้องออกตระเวนให้อาหาร แต่อยากให้มาช่วยบริจาคอาหาร หรือให้อาหาร และร่วมกันดูแลตามศูนย์พักพิงที่จะจัดขึ้น เพื่อช่วยกันสร้างระเบียบขึ้นมา และลดปัญหาความเดือดร้อนจากสัตว์จรจัดที่มีผลกระทบกับประชาชน" นายสัตวแพทย์ ธีระวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขปัจจุบัน โดยเฉพาะกับแมว และสุนัขที่เร่ร่อนจรจัดไม่มีเจ้าของ มีอยู่กว่า 1 ล้านตัว ซึ่งถือว่าไม่น้อย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ช่วยกันทำหมันในแต่ละครั้งก็หลายแสนตัว แต่ปริมาณไม่ได้ลดลง เพราะมีการทิ้งสัตว์ใหม่ขึ้นเรื่อยๆ หรือสัตว์จรจัดเห็นว่าบริเวณไหนได้อาหารดี ก็จะแพร่พันธุ์ออกมากันเรื่อยๆ เช่นกัน