ดูไทยแล้วดูโลก กับระบบ"จัดการหมา-แมว"

by ThaiQuote, 11 ตุลาคม 2561

หมาแมว เป็นกระแสขึ้นมาจริงๆ ในหมู่คนรักสัตว์ โดยเฉพาะผู้นิยมเลี้ยงสุนัข-แมว ที่นับเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักแสนซื่อสัตย์กับผู้คน เพราะหลังครม.เห็นชอบอนุมัตร่างแก้ไขพ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอ เพื่อเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ที่ต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง และค่าธรรมเนียมปรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่เกิน 2.5 หมื่นบาท ลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงเริ่มจากสุนัข-แมวก่อนขยายไปสู่สัตว์อื่น สนนราคาค่าธรรมเนียมไม่เกิน 450 บาท/ตัว เหตุผลสำคัญของรัฐคือต้องการคุ้มครองสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ไม่ให้ถูกทอดทิ้งจากคนที่ (อาจ) ไม่รักจริง จะด้วยเหตุผลว่าทนค่าใช้จ่ายไม่ไหว หรือพอสัตว์เลี้ยงโตมาแล้วก็ไม่ได้น่ารักเหมือนตอนตัวเล็กๆ เป็นต้น และถือเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทยในการขึ้นทะเบียนหมาแมว ที่จากนี้หากร่างแก้ไขผ่านชั้นสนช.ไปแล้ว สัตว์เลี้ยงหมาแมวทุกตัวจะต้องขึ้นทะเบียนมีเจ้าของ ไปส่องดูระบบของเมืองนอกเมืองนากันบ้าง ว่าแต่ละประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจัดการกันอย่างไร ทั้งนี้ หลายประเทศใช้ระบบจัดการกับผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะต้องมีใบอนุญาตเลี้ยงสัตว์ตามกฎหมาย ที่สำคัญคือจะต้องจ่ายภาษีสัตว์เลี้ยง และจะแตกต่างกันไปตามแต่ข้อกำหนดของแต่ละประเทศ บ้างก็ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของสุนัข - แมว บ้างก็ขึ้นอยู่กับจำนวนที่เลี้ยง แต่ข้อสำคัญคือการลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง ที่จะมีข้อมูลสุนัข - แมว รวมถึงเจ้าของด้วย ซึ่งข้อมูลนี้จะมีประโยชน์ในการช่วยติดตามหาเจ้าของกรณีสัตว์เลี้ยงหายไป ยกตัวอย่างการจัดการสัตว์เลี้ยงแต่ละประเทศให้ได้เห็นภาพกัน คือ เยอรมัน - ต้องขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงในท้องถิ่นด้วยการฝังไมโครชิพ จ่ายภาษีรายปีสุนัขราว 2,000 บาท แต่แมวไม่ต้องจ่าย รวมถึงต้องซื้อประกันภัยในสุนัขที่เลี้ยงทุกตัว เพื่อป้องกันเหตุกับบุคคลอื่น หรือไปกัดสุนัขตัวอื่น นอกจากนี้ ยังต้องนำสุนัข-แมวไปฉีดวัคซีนตามกำหนด เนเธอแลนด์ - มีกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ที่เคร่งครัด หากปล่อยทิ้ง ไม่ดูแลสัตว์เลี้ยงให้เหมาะสม สามารถปรับผู้เลี้ยงสูงสุดถึง 6 แสนบาท หรือหากทำร้ายสัตว์มีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้รับสุนัขจากสถานสงเคราะห์มาเลี้ยงมากกว่าการซื้อสุนัข โดยสุนัขจากสถานสงเคราะห์สัตว์ จะมีราคาถูกและเก็บภาษีน้อยกว่าสุนัขที่ขายตามร้านค้า นิวซีแลนด์ - ยื่นคำร้องต่อท้องถิ่นเพื่อขอ "อนุญาต" เลี้ยงสุนัข-แมว หลังจากได้รับอนุญาตแล้วจึงจะจัดหามาเลี้ยงได้ พันธุ์ของสุนัขที่เลี้ยงได้จะขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้เลี้ยง สถานที่เลี้ยง ซึ่งการลงทะเบียนจะใช้วิธีฝังไมโครชิพ และสุนัข-แมวจะต้องจดทะเบียนในนามสมาชิกครอบครัวของผู้เลี้ยงด้วย นอกจากนี้ สุนัขที่เลี้ยงจะต้องเข้าโรงเรียนฝึกสุนัขทุกตัว เพื่อเกิดการควบคุมจากเจ้าของได้ในที่สาธารณะ สหรัฐอเมริกา - กำหนดเช่นกันให้สุนัขที่เลี้ยงต้องลงทะเบียนมีใบอนุญาตเลี้ยง ส่วนใบอนุญาตจะมีอายุกำหนดตามวัคซีนสำคัญที่ต้องฉีดให้สัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันโรค และค่าธรรมเนียมรายปีจะถูกลงหากผู้เลี้ยงแสดงให้เห็นถึงการดูแลสัตว์เลี้ยงที่ดี เช่น หากทำหมันสัตว์เลี้ยงค่าธรรมเนียมปีถัดไปจะถูกลง เนื่องจากช่วยคุมจำนวนสัตว์เลี้ยง ญี่ปุ่น - กำหนดกฎหมายห้ามขายสัตว์เลี้ยงก่อนเวลา 08.00 น. และห้ามซื้อขายหลังเวลา 20.00 น. เพื่อไม่ให้กระทบสุขภาพสัตว์ และป้องกันไม่ให้เร่งผสมพันธุ์สัตว์เลี้ยงออกมาขาย สิงคโปร์ - กำหนดเรื่องความสะอาดเป็นหลัก หากปล่อยสุนัขอุจาระเรี่ยราดตามสถานที่ต่างๆ อาจถูกปรับถึง 2.5 หมื่นบาท แต่หากทารุณและทอดทิ้ง มีสิทธิ์ถูกปรับถึง 2.5 แสนบาท และจำคุกอีก 1 ปี