แรงบันดาลใจแห่งแผ่นดิน "พระอัจฉริยภาพ" ของในหลวงรัชกาลที่ 9

by ThaiQuote, 12 ตุลาคม 2561

โดยช่วงเวลาตลอด 70 ปีที่ครองราชย์ พระองค์ทรงอุทิศพระวรกาย ใช้พระอัจฉริยภาพเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรผ่านพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงยั่งยืน สะท้อนได้จากโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย พระอัจฉริยภาพ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ThaiQuote ขอเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เยาวชน หรือประชาชนทั่วไปในการศึกษาและเรียนรู้ ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต   พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี พระอัจฉริยภาพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเรียนการเป่าแซกโซโฟน การเขียนโน้ตเพลง การบรรเลงดนตรีสากลในแบบต่าง ๆ พระองค์ทรงเครื่องดนตรีได้หลายประเภท เช่น แซกโซโฟน คลาริเน็ต ทรัมเป็ต เปียโน และกีตาร์ แต่แนวเพลงที่ทรงโปรดมากที่สุดคือแนวเพลงแจ๊ส นอกจากทรงดนตรีได้เชี่ยวชาญแล้ว ยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยพระองค์เองตั้งแต่ พ.ศ.2489 ทั้งสิ้น 48 เพลง โดยมีเพลงที่โดนเด่น  เช่น แสงเทียน ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นขณะมีพระชนมพรรษาเพียง 18 พรรษา พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านดนตรีของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ จนได้รับการยกย่องให้เป็นองค์อัครศิลปินแห่งชาติ และไม่ได้มีเพียงด้านดนตรีสากลเท่านั้น ด้านดนตรีไทยพระองค์ยังทรงสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยบันไดเสียงของดนตรีไทย และมีพระราชประสงค์ที่จะอนุรักษ์ดนตรีไทยให้คงอยู่คู่ชาติตลอดไป   พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรม พระอัจฉริยภาพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักอักษรศาสตร์ ด้วยทรงเจริญพระชันษาในต่างประเทศจึงทรงใช้ภาษาต่างประเทศได้อย่างแตกฉาน โดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมัน ต่อมาทรงเห็นว่าภาษาอังกฤษก็มีความสำคัญในการติดต่อสื่อสาร จึงทรงศึกษาภาษาอังกฤษเพิ่มเติมจนเชี่ยวชาญ ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านการใช้ภาษาเมื่อทรงมีเวลาว่างจากพระราชกรณียกิจพระราชนิพนธ์แปลบทความจากวารสารและหนังสือภาษาต่างประเทศหลายเรื่อง เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และ ติโต และหนังสือพระราชนิพนธ์ที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรมที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ พระมหาชนก และ ทองแดง ทั้งสองเรื่องนี้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะเรื่องพระมหาชนก ที่แสดงให้เห็นถึงความเพียร สติ ปัญญา และให้คติสอนใจหลายประเด็น พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรมของพระองค์ท่านได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนไทยหลายคนยึดเอาเป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าแก่สังคมไทย   พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ พระอัจฉริยภาพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ดังที่ประชาชนมักจะได้เห็นภาพพระองค์ทรงคล้องกล้องไว้ที่พระศออยู่เสมอ พระองค์ทรงมีกล้องถ่ายภาพเล็กส่วนพระองค์ตัวแรกคู่พระหัตถ์ตั้งแต่พระชนมายุเพียง 8 พระชันษา (ราวปี พ.ศ. 2479) ซึ่งนับตั้งแต่ครั้งทรงเยาว์พระชันษาจนกระทั่งตราบทุกวันนี้ ได้ทรงใช้งานอดิเรกด้านนี้ในพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาตินานัปการ พระองค์ทรงเชี่ยวชาญการถ่ายภาพทั้งกล้องธรรมดา และกล้องถ่ายภาพยนตร์ ทั้งยังทรงเชี่ยวชาญในการล้างฟิล์มอัดขยายภาพขาวดำและภาพสี เมื่อทรงเสด็จพระราชดำเนินไปที่ใด เรามักจะเห็นพระองค์ทรงพกกล้องติดไปด้วยเสมอ ซึ่งภาพที่พระองค์ทรงถ่ายไว้นั้น  นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศและพสกนิกรไทยเป็นอย่างยิ่ง ดังเช่นทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯ ไปในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วทุกแห่งในประเทศเพื่อลงพื้นที่ในพระราชกรณียกิจ พระองค์จะทรงนำภาพถ่ายฝีพระหัตถ์มาใช้ประกอบการทำงานของพระองค์อยู่เสมอ   พระอัจฉริยภาพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พระอัจฉริยภาพ “โครงการฝนหลวง” เป็นหนึ่งในนวัตกรรมการทำฝนเทียม ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงคิดค้น วิจัยและพัฒนาด้วยพระองค์เองเป็นเวลากว่า 12 ปี เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน จนได้รับการจดสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังทรงประดิษฐ์คิดค้นและออกแบบเครื่องมือบำบัดน้ำเสียที่เรียกว่า “กังหันน้ำชัยพัฒนา” โดยใช้หลักการเติมออกซิเจนให้กับน้ำ ด้วยทรงตระหนักถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและปัญหามลพิษทางน้ำที่ นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในด้านพลังงานยังทรงมีพระราชดำริให้ทดลองวิจัยการนำน้ำมันปาล์มมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล จนประสบความสำเร็จ เรียกว่า “ไบโอดีเซล” ส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานในประเทศได้ ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์ โดยทรงใช้สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เช่น แบบจิตรลดา แบบภูพิงค์ ทรงใช้เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่าง ๆ และทรงใช้ประดิษฐ์ ส.ค.ส. อวยพรปีใหม่ให้กับประชาชนชาวไทยตลอดทุกปี   พระอัจฉริยภาพด้านศิลปะ งานจิตรกรรมเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยมาก ทรงฝึกฝนการเขียนภาพด้วยพระองค์เองตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเริ่มวาดภาพเมื่อ พ.ศ.2502 โดยเริ่มจากภาพวาดฝีพระหัตถ์ ที่ในระยะแรกจะเป็นภาพเหมือน ทรงโปรดที่จะวาดพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ เมื่อทรงว่างจากพระราชภารกิจก็จะทรงงานวาดภาพอยู่เสมอ ภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์เท่าที่ปรากฏมี 3 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ ภาพแบบเหมือนจริง (Realistic) คตินิยมแบบลัทธิเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Expressionism) และในช่วงหลัง ๆ จะทรงวาดภาพแบบนามธรรม (Abstractionism) นอกจากด้านจิตรกรรมแล้ว พระองค์ยังมีพระอัจฉริยภาพด้านประติมากรรมอีกด้วย โดยผลงานประติมากรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านที่สำคัญ คือ ประติมากรรมลอยตัว (Round Relief) สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครึ่งพระองค์สูง 12 นิ้ว และประติมากรรมหญิงเปลือยนั่งคุกเข่าสูง 9 นิ้ว ที่ทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน และนอกจากนี้ยังมีผลงานทรงแกะแบบแม่พิมพ์ พระพิมพ์ที่เรียกกันว่าสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน ทรงบรรจุผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง   พระอัจฉริยภาพด้านการกีฬา พระอัจฉริยภาพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดการเล่นกีฬามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์เมื่อประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงโปรดกีฬาหลายประเภท เช่น สกีน้ำแข็ง, ยิงปืน, กอล์ฟเล็ก, การแข่งขันรถเล็ก, เทนนิส และแบดมินตัน โดยเฉพาะพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบ และเมื่อ พ.ศ.2510 ได้ทรงเรือใบประเภท OK Class ที่ทรงต่อเองเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเรือใบระหว่างประเทศในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง โดยทรงชนะเลิศการแข่งขันครั้งนั้น พระอัจฉริยภาพ สำหรับการเล่นกีฬาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์จะทรงศึกษาข้อมูลของกีฬาแต่ละประเภทอย่างละเอียด และทรงฝึกฝนจนปฏิบัติได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งนับเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งของนักกีฬา   พระอัจฉริยภาพด้านการเกษตรและชลประทาน พระอัจฉริยภาพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องน้ำเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีแนวพระราชดำริ ในการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ ดิน ป่าไม้ และทรงพระราชทานแนวพระราชดำรินั้นเพื่อให้นำไปปฏิบัติ แนวทางการจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน เป็น “ทฤษฎีใหม่” ก็เกิดขึ้นได้ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ โดยเป็นแนวทางในการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้มีความเหมาะสม ทรงศึกษาและวิจัยเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่มาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ในพื้นที่ส่วนพระองค์จนได้ผลดีแล้วจึงพระราชทานทฤษฎีใหม่นี้ไปใช้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้แล้วพระองค์ยังทรงพระราชทาน “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นแนวทางการดำรงชีวิตให้อยู่ได้อย่างมั่นคง พึ่งพาตัวเองได้ เป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยที่สามารถยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาได้อย่างยั่งยืน พระอัจฉริยภาพ

สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์

  ขอบคุณข้อมูลจาก identity.opm.go.th trueplookpanya.com lifestyle.campus-star.com moe.go.th   ข่าวที่เกี่ยวข้อง นิทรรศการ “สืบสานตำนานศิลป์ แผ่นดินสยาม”