“3 สิ่งสุดท้าย “ ที่ พ่อ ฝากไว้ให้แผ่นดิน

by ThaiQuote, 14 ตุลาคม 2561

อย่างไรก็ดี ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานแนวทางพระราชดำริ โครงการตามพระราชดำริ 3 โครงการสุดท้ายในรัชกาลของพระองค์ 1.อาคาร นวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้แก่ รพ.ศิริราช  ซึ่งจะเป็นอาคารรวมผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 5,000 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 2,000 ล้านบาท โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณารับเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุนก่อสร้าง อาคารนี้จะมีความสูง 25 ชั้น มีจำนวนเตียงผู้ป่วย 376 เตียง มีศูนย์ความเป็นเลิศระดับนานาชาติ 14 ศูนย์ ห้องไอ.ซี.ยู. 62 ห้อง โดยไม่มีห้องพิเศษ 2.โครงการชั่งหัวมัน โครงการตามพระราชดำริ โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 รวมเนื้อที่ทั้งหมด 250 ไร่ แต่เดิมผืนดินมีสภาพเสื่อมโทรมและกันดาร โครงการที่เกิดขึ้นจึงมีจุดประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อพลิกฟื้นดินที่แห้งแล้งให้กลับมาสมบูรณ์ มีเป้าหมายเพื่อสร้างให้เป็นศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจ โดยให้ชาวบ้านและภาครัฐเข้ามาแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อช่วยกันดูแล เพื่อทำให้ดูว่าแม้พื้นที่ที่ยากที่สุดแก่การทำการเกษตร ก็ทำให้อุดมสมบูรณ์ได้ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร   เหตุที่เรียกโครงการ “ชั่งหัวมัน” เกิดขึ้น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล ทรงมีพระราชประสงค์ให้นำมันเทศที่ชาวบ้านนำมาถวายวางไว้บนตาชั่งแบบโบราณ ต่อมาพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯโดยไม่ได้นำมันกลับไปด้วย พอพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังพระราชวังไกลกังวลอีกครั้งจึงพบว่า มันเทศที่วางบนตาชั่งมีใบงอกออกมา จึงรับสั่งให้นำหัวมันนั้นไปปลูกใส่กระถางไว้ในวังไกลกังวล แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้หาพื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศ “พระองค์ท่านมองว่า ถึงเป็นที่ดินที่แห้งแล้ง ก็น่าจะเอามันมาปลูกขึ้นได้ง่าย”   3."นฤบดินทรจินดา" อ่างเก็บน้ำในพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ในโครงการห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริใช้เวลาก่อสร้างนานประมาณ 9 ปี ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 83,000 ล้านบาท อ่างเก็บน้ำแห่งนี้เกิดขึ้นด้วยพระราชดำริตั้งแต่ปี 2521 และยังมีพระราชดำริอีกหลายโอกาสเรื่อยมาจนถึงปี 2544 แต่ก่อสร้างมาเริ่มอย่างเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.2553 รูปแบบโครงการเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนอ่างเก็บน้ำ ความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร และส่วนระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม ประมาณ 111,300 ไร่ ทั้งส่วนนี้จะทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยเมื่อน้ำแล้งจะปล่อยน้ำ แต่ถ้าน้ำมากจะงดปล่อยลงไปท่วมพื้นที่ จนถึงขณะนี้เสร็จสมบูรณ์สามารถสำรองน้ำไว้ให้ราษฎรในพื้นที่ อ.นาดี และ อ.กบินทร์บุรี ใช้ทำการเพาะปลูกพืชผลทั้งฤดูฝนและฤดูแล้งอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการรักษาระบบนิเวศแม่น้ำคูคลองในพื้นที่ ด้วยการระบายน้ำ ลงไปผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสีย ที่ผลัดเปลี่ยนเกิดขึ้นทุกๆปีออกไปจากแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกงของพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี นอกจากนี้ อ่างเก็บน้ำในพระราชดำริแห่งนี้ ได้ส่งผลทำให้เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดนานาชนิดในธรรมชาติกับที่หน่วยงานต่างๆปล่อยลงไปเพิ่มเติม ให้ชาวบ้าน ต.วังดินสอ และพื้นที่ใกล้เคียง ได้จับไปกินและนำไปขายสร้างรายได้ให้ลืมตาอ้าปากอย่างดี
Tag :