ปัญหาจราจรกรุงเทพ เหลืออด - เหลือทนกันหรือยัง?

by ThaiQuote, 5 ตุลาคม 2559

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้วางรากฐานระบบขนส่งมวลชนให้กับประชาชนทั้งรถรางและรถไฟ เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นก็มีภาคเอกชนมาให้บริการรถเมล์โดยสารหลายบริษัท และบริการรถเมล์ที่น่าชื่นชมมากที่สุดในอดีต คือรถเมล์ขาวของบริษัทนายเลิศ จำกัด ตัวรถสีขาวสะอาดสะอ้าน พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารแต่งชุดขาวสวมหมวก มารยาทสุภาพเรียบร้อย เป็นที่นิยมใช้บริการของประชาชนโดยทั่วไป

แต่ระบบขนส่งมวลชนที่ดีก็ถูกทำลายลงจากนักการเมืองที่มีนโยบายยุบรถเมล์เอกชน และจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาใหม่ที่ชื่อ บริษัทมหานครขนส่ง จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขาดทุนสะสมจากการรับซื้อกิจการรถเมล์จากภาคเอกชน แต่ไม่สามารถให้บริการสนองคนกรุงเทพได้ คนกรุงเทพไม่มีรถเมล์เดินทางไปทำงานอย่างพอเพียง จนทำให้เกิดรถสองแถวเถื่อนจากต่างจังหวัดเข้ามาแก่งแย่งกันให้บริการผู้โดยสารในกรุงเทพ เหมือนบ้านป่าเมืองเถื่อน ผู้มีอิทธิพลเก็บค่าหัวคิวรถสองแถว ยิงกันฆ่ากันกลางวันแสก ๆใจกลางกรุงเทพ จากรถสองแถวเถื่อนก็พัฒนาต่อมาเป็นรถเมล์เล็กและรถร่วมฯในปัจจุบัน เนื่องจากรถเมล์เป็นระบบขนส่งมวลชนหลักที่คนกรุงเทพจำเป็นต้องใช้บริการด้วยความจำเป็น เมื่อระบบขนส่งมวลชนที่ดีล่มสลายจึงเป็นเงื่อนไขบีบบังคับให้คนกรุงเทพจำเป็นต้องดิ้นรนหาซื้อรถส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์เพื่อหลีกหนีสภาพการให้บริการอันเลวร้ายของระบบขนส่งมวลชนที่มีอยู่ จนกลายเป็นวัฒนธรรมของคนกรุงเทพรุ่นต่อมา ที่จะต้องมีรถก่อนมีบ้าน

เมื่อมีการใช้รถส่วนตัวกันมากก็ทำให้รถติด รถยิ่งติดก็ยิ่งทำให้คุณภาพและการบริการของรถเมล์ยิ่งเลวลง ผู้คนก็ยิ่งต้องดิ้นรนซื้อรถส่วนตัวกันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อหนีสภาพการบริการอันเลวร้ายบนรถเมล์ วนเวียนเป็น วัฎจักรชั่วร้าย (vicious cycle) ที่ไม่มีวันจบสิ้น ทำให้การแก้ปัญหาจราจร เป็นไปไม่ได้ในสายตาของผู้รับผิดชอบและผู้บริหารประเทศในอดีตที่ผ่านมา การคิดง่าย ๆว่าจะแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯด้วยการสร้างเครือข่ายถนนเพิ่มขึ้น ทำอุโมงค์หรือสะพานต่างระดับข้ามทางแยกทุกแห่ง สร้างทางด่วนให้ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไข เวลา เงินลงทุน และที่สำคัญคือวัฒนธรรมการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ตลอดจนวัฏจักรอันชั่วร้ายของปัญหาจราจรที่เกิดขึ้นแล้ว คงจะต้องพิจารณาทบทวนเสียใหม่เพราะมาตรการเพิ่มพื้นผิวจราจรต้องใช้ทั้งเวลาและการลงทุนสูง เมื่อเทียบกับอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณการจราจรแล้วคงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เป็นมาตรการหลักในการแก้ไขปัญหา หากจะเร่งดำเนินการกันเต็มที่ก็จะได้ผลเพียงการผ่อนคลายปัญหา หรือไม่ให้ปัญหาเลวร้ายลงไปกว่าเดิมเท่านั้น

            ฉะนั้นนี่คือคำตอบว่าทำไมการแก้ปัญหาจราจรในบ้านเราไม่ประสบความสำเร็จเสียที ปัญหามีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน การแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืน เราเดินผิดทางและหลงทางกันมานาน
หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาจราจรทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาวก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่ใช้รถส่วนบุคคล (รถเก๋ง รถปิกอัพ และรถจักรยานยนตร์) ให้มาใช้ระบบขนส่งมวลชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การย้ายเมือง การย้ายสถานที่ราชการหรือการสร้างเมืองใหม่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถาวร ถ้าพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนยังเป็นเช่นเดิม เมืองใหญ่ ๆในภูมิภาค เช่นเชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต ขอนแก่น ฯลฯ ต่างประสบปัญหาจราจรจากการแพร่ระบาดของวัฒนธรรมการเดินทางแบบคนกรุงเทพฯเช่นกัน 

เมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นในอารยะประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่จะใช้ระบบขนส่งมวลชนในการเดินทางเนื่องจากรัฐบาลของเขาได้เตรียมการและพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เพื่อรองรับความเจริญของบ้านเมือง ซึ่งต่างจากเมืองใหญ่ในประเทศด้อยพัฒนาที่ระบบขนส่งมวลชนมักจะถูกละเลย และประชาชนถูกทอดทิ้งให้ดิ้นรนหาวิธีการเดินทางกันเอง ในท้องถนนจะเต็มไปด้วยรถคันเล็กคันน้อย ทั้งที่เป็นรถส่วนตัวและรถบริการสาธารณะ แก่งแย่งกันใช้พื้นที่ถนนที่มีอยู่อย่างจำกัด สับสนอลหม่านและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถิติการบาดเจ็บล้มตายจากอุบัติเหตุจราจรสูงกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตามก็ยังไม่สายเกินไปที่เราจะคิดแก้ไข และปรับปรุงระบบการเดินทางในกรุงเทพฯเสียใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน

แนวคิดในการแก้ปัญหาจราจรมีอยู่ 2 แนวทางเท่านั้นคือจะแก้ปัญหารถติด หรือจะแก้ปัญหาให้คนเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา และประหยัดค่าใช้จ่าย  ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาในแนวทางแรกและล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง การแก้ปัญหาในแนวทางที่ 2 มีความเป็นไปได้มากโดยเฉพาะเมื่อปัญหาสุกงอมและประชาชนพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลง

                ถ้าต่างคนต่างใช้รถส่วนตัวกันไปแบบนี้ สักวันหนึ่งการจราจรจะเป็นอัมพาต และพวกเราทุกคนจะต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนท้องถนน แต่ถ้าเรามาร่วมกันคิดและแก้ปัญหาด้วยรถเมล์กับถนนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้าใครจะใช้รถส่วนตัวก็ต้องเสียสละจ่ายค่าใช้พื้นผิวจราจร ถ้าใครเสียสละไม่ขับรถส่วนตัวก็ได้รับการตอบแทนด้วยการใช้รถเมล์คุณภาพดีที่ปรับปรุงใหม่ สะดวก รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย (นำเงินจากผู้ใช้รถส่วนตัวมาพัฒนารถเมล์และอุดหนุนค่าโดยสารให้มีราคาถูก)  โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ 1-2 ปี ตามขั้นตอนต่อไปนี้

1.แก้ไขระบบการบริหารและจัดการ ซึ่งปัจจุบันถูกแบ่งความรับผิดชอบอยู่ในหลายหน่วยงานทำให้ขาดเอกภาพในการแก้ไขปัญหา และไม่สามารถพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้ทันตามความเจริญของบ้านเมืองได้ ปัญหาจราจรของกรุงเทพฯเป็นปัญหาใหญ่ ซับซ้อน และยากเกินกว่าที่คนทั่ว ๆไปจะเข้าใจ ฉะนั้น หน่วยงานที่จะทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ จะต้องประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะ มีผู้นำองค์กรที่วิสัยทัศน์ยาวไกล เป็นหน่วยงานกลางที่สามารถประสานกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องมีอำนาจสั่งการ ที่จะผลักดันโครงการในแต่ละขั้นตอน ให้ขับเคลื่อนไปจนบรรลุผลสำเร็จ โดยใช้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเป็นหลัก และพึ่งพางบประมาณของแผ่นดินให้น้อยที่สุด

1.             กำหนดพื้นที่โซนนิ่งที่จะเก็บค่าใช้พื้นผิวจราจร ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จำเป็น เพื่อลดปริมาณรถส่วนตัวลง ก่อนที่จะเพิ่มรถเมล์จำนวนมากเข้าไปในระบบ หากไม่มีขั้นตอนนี้ การเพิ่มรถเมล์เข้าไป จะทำให้การจราจรเป็นอัมพาตทันที

2.             ใช้กลไกการถ่วงดุลระหว่าง ราคาค่าใช้พื้นผิวจราจรของระบบ zoning และ ราคาค่าโดยสารของระบบขนส่งมวลชน เพื่อควบคุมปริมาณการจราจรภายในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลให้เหมาะสม และเป็นการป้องกันปัญหาจราจรของกรุงเทพฯอย่างถาวรตลอดไป.

3.             เตรียมจัดซื้อรถเมล์ปรับอากาศคุณภาพดีให้พอเพียงที่จะให้บริการทั่วพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล

4.             เร่งรัดโครงการก่อสร้างบนพื้นผิวจราจรในกรุงเทพและปริมณฑลที่คั่งค้างให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

5.             งดโครงการก่อสร้างใหม่ๆที่เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรโดยไม่จำเป็น โครงการก่อสร้างเพื่อแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพ ส่วนใหญ่สร้างปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา เนื่องจากการก่อสร้างทำให้พื้นผิวจราจรลดลง และที่สำคัญ ใช้เวลาการก่อสร้างนานเกินไป เช่น ล่าสุดที่แยกมไหสวรรค์ ที่ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี หรือโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนบนถนนจรัญสนิทวงศ์ ที่คาราคาซังอยู่นาน บางช่วงเวลา แทบจะไม่เห็นความคืบหน้าของการก่อสร้าง ฉะนั้น ในอนาคต หากมีการก่อสร้างใดๆที่กระทบพื้นผิวจราจร จะต้องมีแผนการก่อสร้างที่ชัดเจนและต้องเร่งการก่อสร้างให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

6.             ระบบรถเมล์โดยสารที่มีคุณภาพ จะเป็นระบบสำรองที่สามารถทดแทนระบบรถไฟฟ้าได้หากมีปัญหาการให้บริการ ซึ่งเริ่มจะมีปัญหาบ่อยขึ้น  ทั้งรถไฟฟ้า BTS และรถไฟใต้ดิน MRT เป็นหลักประกันให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกทั้ง 2 ระบบ คือ รถไฟฟ้าและรถเมล์

7.             แม้ฝนจะตกหนักและมีน้ำท่วมขังรอระบายบนผิวจราจร ประชาชนยังคงสามารถเดินทางไปทั่วกรุงเทพโดยสะดวก เพราะรถเมล์ยังคงให้บริการได้ตามปกติ

8.             ระบบที่คล้ายกันนี้ ใช้ได้ผลแล้วในปัจจุบันที่ประเทศฮ่องกง

9.             รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่จะช่วยเสริมระบบให้สมบูรณ์ เช่น ระบบ Park and ride, ระบบรถเมล์ด่วน/รถตู้ด่วน ที่ขนคนจากปริมณฑลเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพ. จัดตั้งสายตรวจจราจรดูแลกำกับพื้นที่โซนนิ่งตลอด 24 ชั่วโมง ฯลฯ

10.      รณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัว ทิ้งรถส่วนตัวไว้ที่บ้าน แล้วนั่งรถเมล์ไปทำงาน

ไม่มีปัญหาใดที่แก้ไม่ได้ หากประชาราษฎร์ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันแก้ปัญหา เสียสละกันคนละส่วน

เพื่อส่วนรวมที่ดีกว่า แล้วท่านนายกประยุทธ์ก็จะสนองตอบแก้ปัญหาให้กับพวกเราครับ

 

                                                                                              นายแพทย์สมเกียรติ อธิคมกุลชัย

Website: http://bkktraffic.doctorsomkiat.com/