รัฐบาลเดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งหัวเมืองใหญ่

by ThaiQuote, 17 ตุลาคม 2561

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  รับทราบความคืบหน้า  โครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังออกแบบระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา TRAM การจัดทำแผนจัดการจราจร และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมใช้ระบบ PPP Fast Track เส้นทางจากบ้านท่านุ่น จังหวัดพังงา ถึง บริเวณห้าแยกฉลอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางรวม 58.525 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการ 39,406  ล้านบาท  เฟสแรกเริ่มจากสนามบินภูเก็ต ถึงห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.70 กิโลเมตร  มูลค่าการลงทุน 30,154.51 ล้านบาท เป็นทางวิ่งระดับพื้นดินตลอดแนวเส้นทาง ถนนเทพกษัตรีย์ ถนนศักดิเดชน์ และถนนเจ้าฟ้าตะวันออก จากนั้น ยกเว้นยกระดับที่สถานีสนามบิน สถานีใต้ดินที่สถานีถลาง มีจำนวนสถานีทั้งหมด 24 สถานี มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และมีทางลอดรถไฟฟ้า 6 แห่ง หลังจาก ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพังงาและภูเก็ตได้

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่  สนข. ได้จัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ และจัดทำแผนจัดการจราจร พร้อมแผนพัฒนาพื้นที่ TOD เสร็จเรียบร้อยแล้ว ใช้มาตรการ PPP Fast Track ตั้งแต่ปี 60 มี 3 เส้นทางหลักประกอบด้วย สายสีแดง จำนวน 12 สถานี ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร  มูลค่าการลงทุน 28,726 ล้านบาท สายสีน้ำเงิน จำนวน 13 สถานี ระยะทาง 10.47 กิโลเมตร   มูลค่าการลงทุน 30,399 ล้านบาท และสายสีเขียว มีจำนวนสถานีทั้งหมด 10 สถานี ระยะทาง 11.92 กิโลเมตร  มูลค่าการลงทุน 36,195 ล้านบาท รวมระยะทางทั้งหมด 34.93 กิโลเมตร   รวมมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการ ทั้งสิ้น 95,321.66 ล้านบาท   โดยใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเบา TRAM  มีระบบรองเป็นรถประจำทาง 7 สายทาง  รวมระยะทาง 90 กิโลเมตร และระบบเสริมรถประจำทางอีก 7 สายทาง รวมระยะทาง 85 กิโลเมตร มอบหมายให้ รฟม. รับผิดชอบดำเนินโครงการ โดยสายสีแดงเป็นโครงการนำร่อง มีทางวิ่งระดับดิน (เขตชานเมืองวิ่งร่วมกับการจราจรปกติบางส่วน) ผสมกับใต้ดิน (เขตเมือง)

ส่วนโครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา สนข. ทำแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา  และจัดทำแผนจัดการจราจร พร้อมแผนพัฒนาพื้นที่ TOD เสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นระบบรถไฟฟ้า LRT ระบบหลัก มี 3 เส้นทางหลัก ประกอบด้วย สายสีเขียว มีจำนวนสถานีทั้งหมด 18 สถานี ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร  มูลค่าการลงทุน 8,400 ล้านบาท  สายสีส้ม มีจำนวนสถานีทั้งหมด 17 สถานี ระยะทาง 9.81 กิโลเมตร  มูลค่าการลงทุน 5,200 ล้านบาท และสายสีม่วง

มีจำนวนสถานีทั้งหมด 9 สถานี ระยะทาง 7.14 กิโลเมตร   มูลค่าการลงทุน 4,800  ล้านบาท รวมระยะทาง 28.12 กิโลเมตร ส่วนต่อขยายมี 3 เส้นทาง   ประกอบด้วย  สีเขียว สีส้ม และสีม่วง รวมสถานีทั้งหมด 20 สถานี ระยะทางรวม 21.97 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง จำนวน 14,200 ล้านบาท รวมมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการทั้งสิ้น 32,600 ล้านบาท ซึ่ง รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ โดยมีสายสีเขียวเป็นโครงการนำร่อง ขณะนี้ รฟม. อยู่ระหว่างกระบวนการออกพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจ รฟม. ในการดำเนินโครงการในจังหวัดนครราชสีมา

นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขต จังหวัดขอนแก่นและผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่ สนข. ได้ศึกษาไว้ และอนุญาตให้จังหวัดขอนแก่นเป็นผู้พัฒนา และบริหารจัดการโครงการตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองขอนแก่น เฉพาะในเส้นทาง นำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ที่ สนข. ออกแบบรายละเอียดไว้แล้ว โดยเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) มีจำนวนสถานีทั้งหมด  16 สถานี เป็นโครงสร้างยกระดับ 6 สถานี และระดับดิน 10 สถานี ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานและงานโยธา 26,963 ล้าน

และเห็นชอบมีมติเห็นชอบผลการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก ตามที่ สนข. ได้ศึกษาแล้วเสร็จ เมื่อเดือนมีนาคม 2561 และมอบ  รฟม. รับไปดำเนินการตามขั้นตอนและสอดคล้องกับระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ เทคโนโลยีระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเหมาะสมกับแนวเส้นทาง ประกอบด้วย 3 รูปแบบ ได้แก่ รถโดยสารขนาดปกติ (Regular Bus) รถโดยสารขนาดเล็ก (Micro Bus) และรถรางล้อยาง (Auto Tram) มีแผนการดำเนินงาน ดังนี้   แผนระยะที่ 1 จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 80.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 3,206.57 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2563-2564 และเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2565   แผนระยะที่ 2 จำนวน 2 เส้นทาง (รวมทั้งส่วนต่อขยายเส้นทางระยะที่ 1) รวม 8 เส้นทาง  ระยะทางรวม 30.1 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 911.42 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี พ.ศ.2572-2573 และเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2574

สำหรับผลการศึกษาเฟสแรก เส้นทางสายสีแดง เป็นลำดับแรก  ใช้ระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบรถรางล้อยาง (Auto Tram) มีจำนวนสถานีทั้งหมด 15 สถานีระยะทาง 12.6 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 762.29 ล้านบาท แนวเส้นทางจากมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2-สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1-วัดพระศรีรัตน มหาธาตุ-ศาลากลางจังหวัด-มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม   (ส่วนทะเลแก้ว)-หมู่บ้านพิษณุโลกเมืองใหม่ รวมมูลค่าการลงทุนระบบขนส่งในภูมิภาคประมาณ 1.8 แสนล้านบาท

ในส่วนการพัฒนารถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล  โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3  สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก โดยที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของผลการศึกษาโครงการลงทุน   ​ขณะนี้อยู่ระหว่าง สนข. พิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับโรงซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมและสั่งการ (Depot) ที่กระทบต่อการเวนคืนน้อยที่สุด รวมทั้งความชัดเจนของการอนุญาตให้ใช้พื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อวางเสาตอม่อของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม)  เพื่อนำฐานรากโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 มาใช้สร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) เพราะได้ตรวจสอบฐานรากเดิมบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ   ที่ กทพ. ก่อสร้างไว้แล้ว พบว่า เสาตอม่อเดิม ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับ การก่อสร้างระบบทางด่วน ดังนั้น กทพ. ควรใช้ฐานรากเดิม เพื่อใช้ก่อสร้างทางด่วน ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2  สนข. และ กทพ. ได้มีการหารือร่วมกัน เพื่อปรับออกแบบให้ความสูงของโครงสร้างรองรับ ทั้งระบบทางด่วนและรถไฟฟ้าในแนวสายทางเดียวกันแล้ว

​โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง (สายหลัก) บริเวณสถานีรัชดา โดยแนวเส้นทางจะวิ่งไปตามแนวเกาะกลางถนนรัชดาภิเษก มีสถานีอยู่บริเวณหน้าอาคารจอดรถของสำนักงานศาลยุติธรรม และสถานีบริเวณสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน มีทางเดินเชื่อมยกระดับ (Skywalk) ไปยังสถานีพหลโยธิน 24 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว  ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีระยะทางรวมประมาณ 2.6 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน รวมประมาณ 3,779 ล้านบาท

​โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช– เมืองทองธานี ของ รฟม. ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับสถานีศรีรัช โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (สายหลัก) ก่อนจะวิ่งเข้าสู่เมืองทองธานี ไปตามซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 ขนานไปกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 3,379 ล้านบาท

การศึกษาการพัฒนาพื้นที่และทางสัญจรเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา และมอบหมายกระทรวงคมนาคม โดย สนข. กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร หารือแนวทางในการพัฒนาพื้นที่และทางสัญจรเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ร่วมกันให้เกิดการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง สมุทรปราการ ในเดือนตุลาคม นี้ ทาง กทม. รฟม. กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง เตรียมหารือร่วมกัน เพื่อจัดทำร่าง MOU ในเรื่องของการโอนหนี้ และรับภาระหนี้  เพื่อนำเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณากลางเดือน พย.นี้ หลังจากนั้น  เตรียมลงนามร่วมกัน ในวันที่ 1 ธค. 61 นี้ ระหว่าง รฟม.กับ กทม. และในวันที่ 5 ธันวาคมเพื่อเปิดเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายในขั้นต่อไป.