นอนกรนอาจหยุดหายใจขณะนอนหลับ

by ThaiQuote, 18 ตุลาคม 2561

          

นอนกรน เกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่ตีบแคบลงขณะที่เรานอนหลับสนิท ซึ่งในขณะนอนหลับนอกจากอาการกรนแล้วยังพบว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจเกิดขึ้นร่วมด้วย ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของการหายใจ คือมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ จึงทำให้คุณภาพการนอนไม่ดี การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง กลายเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพ เช่น ร่างกายอ่อนเพลีย สมาธิและความจำไม่ดี การเผาผลาญด้อยประสิทธิภาพลง อาจทำให้เกิดโรคอ้วนและเบาหวานได้ รวมไปถึงการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับสมองและหลอดเลือดหัวใจ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง และยังอาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้อีกด้วยนะครับ...

          

ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีหลายประการด้วยกัน เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ มีอาการของโรคภูมิแพ้บริเวณจมูก สันจมูกเบี้ยวหรือคด รูปหน้าหรือคางผิดปกติ ต่อมทอนซิลโต การรับประทานยาที่ทำให้ง่วง และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เป็นประจำ

          

การรักษาโรคนอนกรนมีหลายวิธีด้วยกันครับ ขึ้นอยู่กับสาเหตุผิดปกติที่ตรวจพบและความรุนแรง แบ่งเป็นการรักษาทางยา เช่น การรักษาภาวะภูมิแพ้ การปรับพฤติกรรม เช่น การปรับท่านอน ลดน้ำหนักตัว, ไปจนถึงการรักษาด้วยเครื่องมือพิเศษ เช่น การใช้พลังจากคลื่นวิทยุกระชับเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปากและคอที่หย่อนตัว หรือการผ่าตัดรักษา

          

นอกจากนี้ปัจจุบันยังมี Application (SnoreLab) ที่ช่วยตรวจจับและบันทึกการกรนของเราในเบื้องต้นก่อนจะมาพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยและทำการตรวจเพิ่มเติมที่ละเอียดขึ้น เช่น การทำ sleep test

3 วิธีการแก้ไขอาการนอนกรน

  1. การปรับท่าทางในการนอน การนอนกรนมักจะเกิดจากการที่เรานอนแล้ว ระบบการหายใจทำงานได้ไม่เป็นปกติ จนทำให้เกิดเสียงดังขึ้นมา การปรับเปลี่ยนท่านอนให้หายใจได้ง่ายมากขึ้น จะช่วยได้มากในระยะแรกๆ แต่ก็อาจจะมีเสียงกรนดังขึ้นมาบ้างประปราย จากการพลิกตัวในเวลานอน ซึ่งท่านอนที่ไม่ทำให้เกิดอาการนอนกรนของแต่ละคนนั้น อาจจะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของแต่ละบุคคล
  2. การลดน้ำหนัก อย่างที่บอกไปแล้วในตอนต้นว่า คนที่มีอาการนอนกรนบางส่วน คือ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินกว่ากำหนด หรือคนอ้วนนั่นเอง ซึ่งถ้าหากคุณสามารถลดน้ำหนักตัวลงมาได้ นอกจากจะช่วยลดการนอนกรนแล้ว ยังช่วยในเรื่องของสุขภาพโดยรวมได้อีกทางหนึ่งด้วย
  3. เข้าพบแพทย์และทำการปรึกษาแพทย์ สำหรับคนที่นอกจากจะนอนกรนแล้ว ในตอนกลางคืนยังคงมีอาการหลับ ๆตื่น ๆ ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรง กับสุขภาพและการทำงานของตัวเองแล้ว การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการนอนกรน และหาทางรักษาที่ถูกวิธี ดูเหมือนว่าจะเป็นทางออกสุดท้ายที่ดีที่สุด เพราะถ้าหากปล่อยให้เป็นในระยะเวลานาน จะส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพของคุณอย่างแน่นอน