ชาวนาไทยเฮ!! ตลาดส่งออกหนุนราคาข้าวสูงต่อเนื่อง

by ThaiQuote, 23 ตุลาคม 2561

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เผยว่าจากการหารือร่วมกันกับสมาคมโรงสีข้าว ตัวแทนเกษตรกร ชาวนาหลายพื้นที่ พบว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง อาทิเช่น จังหวัดร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญ เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงจากปีที่ผ่านมา ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ขณะนี้มีข้าวเปลือกหอมมะลิต้นฤดูออกสู่ตลาด ราคาที่ชาวนาขายได้สูงขึ้นเป็นลำดับ จนอยู่ในระดับกว่าตันละ 15,000 บาท และยังมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกจะทำได้สูงกว่าเป้าหมาย ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้น โดยข้าวหอมมะลิความชื้น 15 % มีราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เป็นตันละ 14,750 - 17,700 บาท  ในขณะที่ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับตันละ 11,550 – 14,500 บาท ข้าวเหนียวเมล็ดยาว ความชื้น 15% ตันละ 9,000 – 10,800 บาท ปีที่ผ่านมาตันละ 7,200 – 12,000 บาท ข้าวเจ้า 5% ความชื้น 15% ราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7,500 – 7,900 บาท ปีที่ผ่านมาตันละ 7,300 – 7,800 บาท ขณะเดียวกัน ยังมีข่าวดีเกี่ยวกับกำหนดการส่งมอบข้าวที่ได้ตกลงขายให้ประเทศจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อีกกว่า 900,000 ตัน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 61 จึงมั่นใจได้ว่า ปี 2561 การส่งออกข้าวของไทยจะสูงกว่า 11 ล้านตัน อย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการที่จะนำมาใช้รองรับข้าวในฤดูกาลผลิต 61/62 ที่กำลังจะออกสู่ตลาด รัฐบาลได้เตรียมการรองรับไว้รวม 3 มาตรการหลักๆ ที่สำคัญคือ 1.) การชะลอจำหน่ายข้าวเปลือกนาปี เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเก็บสต็อกโดยรัฐบาลจ่ายค่าฝากเก็บให้เกษตรกรที่เก็บข้าวในยุ้งฉางของตนเอง ตันละ 1,500 บาท หากฝากเก็บในยุ้งฉางของสหกรณ์หรือกลุ่มวิสาหกิจ จะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,000 บาท นอกจากนั้นยังมีการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวอีกไร่ละ 1,500 บาท รายละไม่เกิน 12 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท เป็นอัตราการจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากครัวเรือนละ 6,000 บาท ในปีที่ผ่านมา 2.) ส่งเสริมสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้เก็บสต็อกข้าวแทนสมาชิกโดยรัฐบาลสนับสนุนทุนในการจัดเก็บอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 1 ต่อปี 3.) จูงใจให้โรงสีดูดซับผลผลิตข้าวในช่วงต้นฤดูซึ่งผลผลิตออกมาก โดยช่วยเหลือค่าดอกเบี้ยจากเงินกู้ที่ใช้ในการจัดเก็บร้อยละ 3 ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับจังหวัดแหล่งผลิต ประสานให้มีการพบปะเจรจาซื้อขาย ระหว่างกลุ่มชาวนากับผู้ซื้อ ซึ่งมีทั้งลานข้าว โรงสี  ผู้ส่งออก ตลอดจนกลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ชาวนามีความมั่นใจว่ามีช่องทางการในการจำหน่ายที่แน่นอน ได้ราคาที่น่าพอใจ อีกทั้งมีความเที่ยงตรงในเรื่องการชั่งน้ำหนัก การวัดความชื้น สิ่งเจือปน และเปอร์เซ็นต์ต้นข้าว ทั้งนี้ หากพบว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการเอารัดเอาเปรียบในการซื้อข้าวเปลือก ทั้งในเรื่องการชั่งน้ำหนัก การวัดความชื้น หรือการกดราคารับซื้อข้าวเปลือก สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ซึ่งหากพบการกระทำความผิด กรมการค้าภายใน จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาดแน่นอน   ข่าวที่เกี่ยวข้อง “พาณิชย์” ย้ำต้องใช้ “การตลาดนำการผลิต” หนุนข้าวไทย  ข้าวไทย แพ้! หอมมะลิกัมพูชา “อังกอร์” คว้าแชมป์ข้าวดีที่สุดในโลก