‘ข่มขืน’ ลุกลามครอบครัว ทางรอดของ’เหยื่อ’ต้องสำคัญ

by ThaiQuote, 23 ตุลาคม 2561

ข่มขืน ตัวอย่างล่าสุด คือกรณี พ่อ อายุ 39 ปี ข่มขืนลูกสาวตัวเองมานาน 5 ปี จนเด็กสาวมีอายุ 17 ปีในปัจจุบัน ก่อนที่เด็กสาวจะเดินเท้า 60 กิโลเมตร ไปขอความช่วยเหลือจากญาติ และแจ้งความดำเนินคดีกับพ่อตัวเอง อะไรคือต้นตอปัญหา การข่มขืน ที่มีอย่างต่อเนื่อง? อึ้ง! นักเรียน-นักศึกษา เป้าหมายข่มขืนอันดับหนึ่ง จรีย์  ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บอกเล่าบนเวทีเสวนา ข่มขืน...ภัยใกล้ตัวของเด็กและเยาวชน”  ไว้อย่างน่าสนใจ เธอฉายภาพตัวเลขสถิติของการถูกข่มขืน และใช้ความรุนแรงทางเพศ โดยระบุว่า จากการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศปี 2560 จากหนังสือพิมพ์13ฉบับ พบข่าวความรุนแรง ทั้งหมด 317 ข่าว มีผู้เสียชีวิต 20 ราย สำหรับปัจจัยกระตุ้น พบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเกิดความรุนแรงทางเพศมากที่สุดถึง ร้อยละ 31.1 หรือคิดเป็นหนึ่งในสามโดยประมาณ รองลงมา อ้างว่ามีอารมณ์ทางเพศ ร้อยละ 28 การใช้สารเสพติด ร้อยละ16.3 และต้องการชิงทรัพย์ ร้อยละ 11.7 ขณะที่ อายุของผู้ถูกกระทำเกินครึ่ง หรือร้อยละ 60.6 ยังเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 5-20 ปี รองลงมา อายุ 41-60 ปี ร้อยละ 30.9 ผู้ถูกกระทำ เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 60.9 รองลงมาคือลูกจ้าง ร้อยละ 21.6 ค้าขาย ร้อยละ 5.2 และเป็นกลุ่มเด็กเล็ก ร้อยละ 4.2 ส่วนสถานที่เกิดเหตุเกิดในที่พักของผู้ถูกกระทำ เกิดเหตุในที่เปลี่ยว/ถนนเปลี่ยว ที่น่าสลดคืออายุของผู้ถูกกระทำน้อยที่สุดคือ เด็กหญิง 5 ขวบถูกข่มขืน และอายุมากสุดคือ อายุ 90 ปี ส่วนอายุของผู้ก่อเหตุที่น้อยที่สุดคือ 12 ปี ขณะที่ส่วนใหญ่ผู้กระทำความรุนแรง เป็นคนรู้จักคุ้นเคยและเป็นบุคคลในครอบครัวกว่าร้อยละ 53 รองลงมา เป็นคนแปลกหน้า/ไม่รู้จักกัน ร้อยละ 38.2 และถูกกระทำจากคนที่รู้จักกันผ่านโซเชียล ร้อยละ 8.8 นั่นคือตัวเลขที่สะท้อนความเป็นจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข่มขืน จรีย์  ย้ำอีกว่า กรณีความสัมพันธ์ที่เป็นคนใกล้ชิด คนรู้จักคุ้นเคย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเภทข่าวข่มขืน และมีหลายกรณีข่าวที่ผู้ก่อเหตุ มักอาศัยความไว้ใจเชื่อใจ ล่อลวงกระทำการข่มขืน ส่งผลกระทบต่อเหยื่อ คือ หวาดผวา ระแวง กลัว ที่น่าห่วงคือ ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์หลายครั้ง ยาวนานติดต่อกัน แต่หากเหยื่อขัดขืน ก็มักถูกขู่ฆ่า หรือข่มขู่จะทำร้ายหากบอกใคร แต่ที่น่าสนใจคือ ใน 100 คน จะมี 12 คนถูกทำร้ายอย่างสาหัส “ข้อเสนอในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น ครอบครัวควรให้กำลังใจ ไม่กล่าวโทษว่าเป็นความผิดของผู้ถูกกระทำ และควรสร้างความมั่นใจให้ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อลดความหวาดกลัว สิ้นหวัง ประเทศไทยควรมีหลักสูตรการเรียนรู้ทั้งในระดับโรงเรียน ให้เคารพในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง บุคคลในหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ควรมีความรู้ ความเข้าใจในประเด็นปัญหาความรุนแรงทางเพศที่ละเอียดอ่อน ไม่ซ้ำเติมผู้ถูกกระทำ อีกทั้งในระบบการเยียวยาผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศจะต้องดูแลแบบต่อเนื่อง เพื่อทำให้เห็นคุณค่าภายใน เห็นศักยภาพความสามารถของตนเอง เพราะการข่มขืนไม่ได้เพียงแต่ทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ทำลายคุณค่าของจิตใจด้วย” จรีย์ สะท้อนปัญหาพร้อมข้อเสนอแนะ ข่มขืน คดีข่มขืน กฎหมายจำต้องเด็ดขาด อภิญญา เวชยชัย นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และในฐานะนักวิชาการ เสริมว่า จากสถิติพบผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศ เข้าสู่กระบวนการของตำรวจมีแนวโน้มสูงขึ้น และจากการเฝ้าระวังพบว่า เหตุการณ์ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต สภาวะทางจิตใจ ที่การรับรู้จะค่อยๆ เปลี่ยนไป ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคตอย่างมาก “หลายรายต้องสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง รู้สึกผิดโทษตัวเอง ทำร้ายตัวเองตลอดเวลา มีทัศนคติที่ไม่ดีในการสร้างครอบครัวและการมีเพศสัมพันธ์ในอนาคต สิ่งที่ยังเป็นปัญหา คือ ผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะอาย ไม่กล้าเปิดเผย เก็บความทุกข์ไว้เพียงลำพัง ทำให้ผู้กระทำย่ามใจเกิดการกระทำซ้ำ ดังนั้นต้องทำให้ผู้กระทำได้รับการลงโทษที่เด็ดขาด” อภิญญา ย้ำอีกว่า ผู้เสียหายต้องได้รับทางเลือกที่เหมาะสม มีระบบดูแลผู้ถูกกระทำที่ชัดเจน คือ ให้บริการที่เป็นมิตรในรายบุคคล ได้รับคำปรึกษาที่เหมาะสมเพื่อให้ลดความหวาดกลัว ฟื้นฟูอารมณ์จิตใจนำพลังที่สูญเสียไปกลับคืนมา มีทีมสหวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ที่เพียงพอ และต้องมีบริการองค์รวม เช่น ปัจจัยสี่ อาชีพ ที่พักพิงชั่วคราวพื้นที่ปลอดภัย อีกด้านอย่าง ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เสริมเช่นกันว่า การข่มขืนเป็นความรุนแรงทางเพศที่คุกคามความเป็นมนุษย์อย่างที่สุด แต่สังคมไทยกลับไม่จริงจังเรื่องการเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ชาย และมีแนวโน้มที่จะปล่อยให้ผู้ชายลอยนวล ขณะเดียวกันกลับเข้มงวด ตีเส้น ตีกรอบ เรียกร้องการดูแลตัวเองจากผู้หญิง ซึ่งเป็นวิธีคิดที่หลงทาง ที่ผ่านมาบ้านกาญฯ ได้ทำกระบวนการกลุ่ม มีกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมเรียกว่า วิชาชีวิต” เปลี่ยนระบบความคิดที่มีผลต่อพฤติกรรมเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางเพศอย่างต่อเนื่อง เช่น การเลี้ยงไข่ต้ม 8 วัน โดยเยาวชนต้องหิ้วไข่ต้มติดตัวตลอดเวลา เพื่อให้เข้าใจลำบากในการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่  และการวิเคราะห์ข่าวเด็ก เด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้ง ข่าวพ่อวัยรุ่นฆ่าลูก ข่าวนักเรียนหญิงท้องเพราะเพื่อนชายข่มขืน โดยวัยรุ่นทุกคนของบ้านกาญจนาภิเษก จะต้องเลี้ยงน้องที่บ้านเด็กกำพร้าบ้านปากเกร็ด 1 วัน และการจัดกิจกรรมดูภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง ทุกกิจกรรมมีการถอดบทเรียน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ทำให้รูปแบบการคิดเปลี่ยนไป โดยไม่ต้องท่องจำ ความรับผิดชอบทางเพศคือความรับผิดชอบที่ต้องเรียกร้องจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน การเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้หญิงแต่ปล่อยให้ผู้ชายลอยนวลคือ ทางแก้ที่ไร้ความสำนึก ขาดความรับผิดชอบของคนในสังคม ซึ่งต้องทบทวนและรื้อทิ้งความคิดดังกล่าวตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป