สหรัฐฯ ระงับนำเข้าน้ำปลาไทย หวั่นมีสารก่อมะเร็ง

by ThaiQuote, 24 ตุลาคม 2561

วานนี้ 23 ต.ค.61 นายนพดล ทองมี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ประจำนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้ประกาศห้ามนำเข้าน้ำปลาจากไทย เนื่องจากต้องการให้ไทยตรวจสอบพิสูจน์สารปนเปื้อนจากการหมักน้ำปลาว่าไม่มีส่วนผสมของสารก่อมะเร็ง ที่อาจปะปนอยู่ในส่วนของลำไส้ของปลา เนื่องจากกระบวนการผลิตจะใช้ปลาตัวเล็กจึงไม่สามารถชำแหละเอาไส้ปลาออกได้   สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่า ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2561 ทางองค์การอาหารและยา แห่งสหรัฐ จัดให้บริษัท โรงงานน้ำปลาไทย (ตราปลาหมึก) จำกัด เข้าไปอยู่ในบัญชี Import Alert และการกักสินค้าจากการนำเข้า เนื่องจากละเมิดกฎระเบียบสำหรับสินค้าอาหารทะเล โดยระบุว่ากระบวนการผลิตน้ำปลาอาจจะก่อให้เกิดสาร Histamine เป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้อาหาร และสารพิษจากเชื้อแบคทีเรีย (Clostridium Butolinum) - คลอสทริเดียม โบทูลินัม ซึ่งจะเกิดในกระบวนการแปรรูปอาหารซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค   นายนพดล กล่าวว่า ทาง อย.สหรัฐฯ ได้สุ่มตรวจว่าน้ำปลามีสารทำให้เกิดมะเร็ง จะต้องมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หรือต้องเอาไปต้มให้สุกก่อน ซึ่งประเด็นนี้ทางผู้ประกอบการไทยเองมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ทาง สคร.(สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) เป็นห่วงว่าอาจจะส่งผลต่อร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 กว่าร้าน และยังมีร้านอาหารเอเชียจากกัมพูชา เวียดนาม ซึ่งต่างก็จำเป็นต้องบริโภคน้ำปลา เบื้องต้นหลายแห่งหันไปใช้เกลือแทน แต่ก็เกิดปัญหารสชาติอาหารตามมา โดยท้ายสุดกลัวว่าจะเกิดปัญหาคล้ายซอสศรีราชาที่เราจะเสียโอกาสการส่งออกในตลาดนี้ไปเลย อย่างไรก็ตาม ต้องประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่อไป   จากการตรวจสอบ Import Alert ข้างต้น ปรากฏว่ามีบริษัทผู้ส่งออกน้ำปลาไทย ได้แก่ 1) Saigon International (2004) จ.ราชบุรี 2) Tang Sang Hah จ.สมุทรปราการ (ทิพรส) โดนครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เม.ย.57 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 พ.ค.57 3) Thai Fish sauce Factory (Squid Brand) Co., Ltd. (ตราปลาหมึก) โดนเมื่อวันที่ 20 พ.ค.61   สำหรับแนวทางการแก้ไขอาจเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ ปรับกระบวนการผลิตให้มีขั้นตอนการผ่านความร้อนตามที่ USFDA แนะนำ หรือ นำเสนอข้อมูลหลักฐานผลการศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์มายืนยันว่ากระบวนการหมักน้ำปลามีการควบคุมที่เทียบเท่าเพื่อป้องกันการเกิดสารพิษดังกล่าว กรณีของน้ำปลาตราทิพรส ซึ่งไม่มีการแก้ไขปัญหาหรือดำเนินการตามที่ USFDA ชี้แนะ ทำให้เกิดการสูญเสียมูลค่าการส่งออกในตลาดสหรัฐฯ อย่างน่าเสียดาย   นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการประสานกับบริษัทผู้ที่ถูกห้ามนำเข้าแล้ว พบว่าอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข โดยกรณีนี้จะแตกต่างจากกรณีของน้ำปลาทิพรส ก่อนหน้านี้ซึ่งทางสหรัฐขอให้มีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้มีสารเจือปนและให้ต้ม   ซึ่งฝ่ายชี้แจง กล่าวว่ากระบวนการหมักน้ำปลาโดยใช้ความเค็มเป็นกระบวนการปกติของคนเอเชียที่มีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล สามารถถนอมอาหารโดยใช้ความเค็ม แต่ไม่สามารถนำไปต้มได้เพราะจะทำให้รสชาติเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าครั้งนี้จะสามารถคลี่คลายปัญหาไปได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำปลา   ล่าสุด ผลจากมาตรการดังกล่าวทำให้ส่วนแบ่งการตลาดน้ำปลาไทยในสหรัฐลดลง จากอันดับ 1 อยู่ที่ประมาณ 70-80% เหลือ 35-40% โดยในปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ USFDA จัดให้ทิพรสอยู่ในลิสต์ทำให้การนำเข้าลดลง 40% ขณะที่การนำเข้าน้ำปลาจากฮ่องกงในปีเดียวกันเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า   ข่าวที่เกี่ยวข้อง จ๊าก ! สธ.ตรวจ“น้ำปลา” 422 ยี่ห้อ พบ 410 ไม่ได้มาตรฐาน