ย้ายฮวงจุ้ยจาก “หัวลำโพง” มา “สถานีรถไฟบางซื่อ”

by ThaiQuote, 24 ตุลาคม 2561

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชวนนักลงทุนที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market sounding) การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งมีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีกไทยและต่างประเทศ เช่น ซี.พี.แลนด์ เซ็นทรัลพัฒนา สิงห์เอสเตท สยามแมคโคร เดอะมอลล์ และแสนสิริ   “ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 200 ปี ของ กทม. ที่จะเกิดเปลี่ยนแปลงฮวงจุ้ย เดิมทีศูนย์กลางของเมืองพัฒนาเกิดจาก เกาะรัตนโกสินทร์ หรือเขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีสถานีรถไฟกลางอยู่ที่ หัวลำโพง ซึ่งปัจจุบันใน กทม. ขยายตัวมีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 10 ล้านคน” นายไพรินทร์ กล่าว   สถานีกลางบางซื่อ มีขนาดพื้นที่ใหญ่จึงจำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ โดยมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพยลโยธิน พื้นที่รวม 2,325 ไร่ แบ่งเป็น 9 แปลง มีระยะการพัฒนา 3 ระยะ ได้แก่ เฟส 1 พื้นที่ 9.58 ไร่ พัฒนาเป็นย่านค้าปลีก ร้านค้า ร้านอาหาร เฟส 2 พื้นที่ 8.95 ไร่ พัฒนาเป็นอาคารสำนักงานและ Co-Working Space รวมถึงกิจการขนส่งโลจิสติกส์ ส่วนเฟส 3 พื้นที่ 13.58 ไร่ พัฒนาเป็นโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยว   เบื้องต้นการรถไฟแห่งประเทศไทย จะนำพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลง A เนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของสถานีกลางบางซื่อ มาพัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจครบวงจร โดยเป็นแหล่งรวมอาคารสำนักงาน โรงแรม และพื้นที่การค้าปลีก เพื่อให้สอดรับกับการเปิดให้บริการของสถานีกลางบางซื่อในปี 2564 โดยนักลงทุน จะลงทุนในรูปแบบ PPP ทั้งการออกแบบ ก่อสร้าง หาเงินทุน บริการจัดการ และส่งมอบ ในระยะสัมปทาน 30 ปี   นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เผยว่า ระยะเวลาในการดำเนินการจะเริ่มจาก เดือนมกราคม ปี 2562 โดยประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน – เปิดขายเอกสารคัดเลือกเอกชนใน เดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน 2562 และยื่นข้อเสนอ เดือนสิงหาคม ลงนามสัญญาร่วมทุน – กลางปี 2564 พื้นที่แปลง A เปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการบางส่วน   สำหรับศูนย์คมนาคมพหลโยธิน จะเป็นศูนย์กลางระบบรางอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าในเมือง และรถไฟความเร็วสูง มีการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง ทั้งยังนำหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม มาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่ เมื่อแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2566 สถานีกลางบางซื่อจะเป็นสถานีรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีมาตรฐานเทียบเท่าสถานีกลางทั่วโลก   ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการบางส่วนได้ในปี 2564 รับกับการเปิดเดินรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และจะเปิดบริการสมบูรณ์แบบในปี 2566 รองรับเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีอี