อียูโฟกัสดูไบ ซื้อสัญชาติฟอกตัว สื่อนอกเขย่า“ทักษิณ”

by ThaiQuote, 27 ตุลาคม 2561

“พีระศักดิ์ พอจิต” รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.คนที่ 2) ออกมาแสดงความเห็นถึงกรณีทักษิณตีปี๊บพรรคเครือข่ายจะชนะการเลือกตั้งได้ส.ส.ในรัฐสภาเกิน 300 ที่นั่งว่า ส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อว่า จะมีพรรคการเมืองไหนได้คะแนนเสียงเกิน 250 ที่นั่งจากระบบการเลือกตั้งแบบใหม่   “ผมลงในหลายพื้นที่ ที่เคยเป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร  สมการของทักษิณจะเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร รวมถึงการใช้คำว่า สืบทอดอำนาจนั้น ผมมองว่า เป็นการใช้วาทกรรม ตอนนี้ทุกอย่างยังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่ได้พูดว่า จะสืบทอดอำนาจตรงไหน และท่านจะอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือไม่ ก็ยังไม่มีใครทราบ มีแต่การจัดตั้งพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ เพราะทุกคนก็เข้าสู่ระบบหมดแล้ว ทุกอย่างจึงเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ”   ในขณะที่บรรดากลุ่มก้อนการเมืองต่างๆ กำลังเปิดโต๊ะเจรจาที่จะทำศึกเลือกตั้งส.ส. นักการเมืองในคาถาทักษิณ ก็ยังคงเดินทางไปมาหาสู่ทักษิณเพื่อขอรับฟังข้อเสนอแนะตลอดจนแผนการต่างๆ เพื่อที่จะกำหนดท่าทีทางการเมืองในอนาคต โดยไม่แยแสว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่ในนั้นจะขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่..?   เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาสื่อระดับโลก The Economist ที่เคยเปิดโปงเรื่องคอร์รัปชั่นกองทุนพัฒนามาเลเซีย จนนายนาจิบ ราซัค ถูกเขี่ยตกบัลลังก์มาแล้ว  The Economist ได้เสนอรายงานพิเศษเรื่อง A home in the country (หนึ่งบ้านหลายเมือง) เป็นเรื่องราวธุรกิจขายสัญชาติที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในรายงานชิ้นนี้ The Economist ยกให้ ทักษิณ เป็นตัวละครสำคัญควบคู่ไปกับเนื้อหาชำแหละบรรดาเศรษฐีขี้ฉ้อ นักการเมืองคอร์รัปชั่น ตลอดถึงผู้ก่อการร้ายโลก ที่ซื้อสัญชาติ ซื้อสิทธิ์ถิ่นที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ โดย ทักษิณ มีการซื้อสัญชาติมากกว่าใครๆ  มีหนังสือเดินทาง (passports) ไว้ในครอบครองถึง6 เล่ม นั้นหมายความว่าเขาได้ใช้เงินซื้อสัญชาติจากประเทศต่างๆ ถึง 6 ประเทศ   รายงานสื่อยักษ์ใหญ่ยังระบุด้วยว่า “การซื้อขายสัญชาติเป็นธุรกิจใหญ่ ที่มีข้อถกเถียงกันว่ามันเป็นโครงการหาเงินเข้าพกเข้าห่อง่ายๆ ของประเทศเล็กๆ ที่ยังไม่พัฒนา ในเวลาเดียวกันมันเป็นช่องทางให้ อาชญากร นักการเมืองขี้โกง ตลอดถึงผู้ก่อการร้าย ใช้สัญชาติที่ซื้อมาเป็นที่หลีกเลี่ยงคดีอาญา หรือใช้เป็นสถานที่ฟอกเงิน ขยายเครือข่ายก่อการร้ายได้ ฯลฯ ”   The Economist พาดหัวข่าวจากบทสนธนาของทักษิณว่า “ผมซื้อเกาะแห่งหนึ่งไว้” เมื่อถูกถามว่าได้หนังสือเดินทางสัญชาติมอนเตเนโกร มาอย่างไร ซึ่งในที่ประชุม สภาการลงทุนผู้ย้ายถิ่นฐาน (The Investment Migration Council (IMC) ในนครเจนีวา เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการหยิบยกคำพูดของทักษิณมาวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เพราะมีข้อกังขาว่าตั้งแต่ได้สัญชาติมอนเตเนโกรมา ทักษิณก็ไม่เคยทำกิจการใดๆ ในเกาะที่ว่านั้นเลย และก็น่าจะเป็นเรื่องแปลกที่เขามีหนังสือเดินทางถึง 6 เล่ม ด้วยถูกยึดอำนาจและริบหนังสือเดินทางประเทศไทย เป็นเหตุให้เขาต้องเร่หาซื้อหนังสือเดินทางพร้อมวีซ่าถิ่นที่อยู่อาศัย   ทั้งนี้ ที่ประชุมของมนตรีอียู สงสัยว่าโครงการ CRBI เป็นเรื่องการซื้อขายสิทธิ์ในการหลบซ่อนฟอกตัวของพวกเศรษฐีขี้โกง นักการเมืองคอร์รัปชั่น ตลอดถึงผู้ก่อการร้าย อียูจึงกังวลว่าถ้าผู้อยู่นอกกลุ่มประเทศอียู ซื้อสัญชาติได้อาจมีผลกระทบใหญ่หลวงตามมา เพราะหนังสือเดินทางของอียูและเชงเก้นวีซ่าใช้เดินทางเข้าออกได้ 22 ประเทศในอียู   The Economist รายงานด้วยว่า เพื่อสนองความต้องการ หนังสือเดินทางและวีซ่าถิ่นที่พักอาศัยระยะยาว ประเทศเล็กๆที่หิวเงินอย่างน้อย 12 ประเทศแข่งกันเสนอเงื่อนไขให้ซื้อ “สัญชาติและถิ่นที่พักอาศัยผ่านการลงทุน” ได้ง่าย โดยเฉพาะรัฐที่อยู่ในหมู่เกาะคาริบเบียนอาทิ แวนัวตู จอร์แดน และประเทศในอียู เช่นออสเตรีย ไซปรัส และ มอลตา รวมทั้งประเทศที่เพิ่งร่วมตลาดขายสัญชาติล่าสุดคือมอลโดวา ซึ่งเพิ่งลงนามทำสัญญากับบริษัทที่ปรึกษา ให้ออกระเบียบขอสัญชาติผ่านโครงการลงทุนได้ง่าย   สถิติการขึ้นบัญชีขอสัญชาติและถิ่นที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ จนครั้งหนึ่งนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ถึงกับพูดว่า “จะทำอย่างไรกับพวกขอสัญชาติไร้ตัวตน”   นอกจากนั้น อียู กำลังตรวจสอบถึงมาตรการสีเทา ที่ประเทศต่างๆใช้ฟรีวีซ่าของอียู เป็นที่ยั่วยวนจูงใจในโครงการย้ายถิ่นฐานผ่านการลงทุน และอียูพร้อมใช้มาตรการลงโทษต่อประเทศที่ใช้ฟรีวีซ่าผิดวัตถุประสงค์เหมือนกับที่ประเทศแคนาดา ลงโทษหมู่เกาะเซนต์ คิตต์ กับ แอนติกัวแอนด์บาร์บูดา ที่ใช้ฟรีวีซ่าอียูกับนักลงทุนซื้อสัญชาติและถิ่นที่อยู่อาศัย ที่น่าสนใจก็คือ กรรมาธิการอียูกับสมาชิก OECD กำลังจะตรวจสอบธุรกรรมการเงินและพฤติกรรมของผู้ได้สัญชาติและถิ่นที่อยู่อาศัยในเมืองดูไบ ซึ่งหนึ่งในนั้นจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของเมืองไทยหรือไม่ คงต้องติดตามกันดูต่อไป   แม้การรอนแรมหนีอาญาแผ่นดินของทักษิณ ชินวัตร ในคดีทุจริตการซื้อขายที่ดินรัชดาฯ จะหมดอายุความไปแล้ว กล่าวคือหนีจนหมดอายุความ แต่ทักษิณยังมีคดีอีกมากมายที่รอการตัดสิน รวมถึงคดีที่ทักษิณคิด และให้น้องสาวอย่างยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็น “นอร์มินี” ก็ชวนให้คอการเมืองพากันจับจ้องเกาะกระแสชนิดไม่อาจกระพริบตาได้   ล่าสุด “นรวิชญ์ หล้าแหล่ง” ทนายความของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีอาญาแผ่นดินเช่นผู้พี่ ออกมาเรียกร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นัยว่าอย่าตกเป็นเครื่องมือหรือยอมให้ถูกใช้เพื่อเป็นวาระทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ด้วยในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม 2561 ได้มีความพยายามที่จะนำคดีระบายข้าว (จีทูจี) โดยนำสัญญาระบายข้าวที่เหลือมาดำเนินคดีใหม่อีกเป็นครั้งที่ 2 โดยให้จำเลยหลายรายในเรือนจำให้การซัดทอดถึง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเครือญาติ มีการจูงใจแลกกับสิทธิประโยชน์ที่ไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำ แต่ให้อยู่ในโรงพยาบาลแทนโดยมีข้ออ้างเรื่องเจ็บป่วย   เชื่อว่าคำถามตัวโตๆ น่าจะพุ่งเป้าไปที่ “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่วันนี้ต้องโทษถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ และกำลังเจ็บไข้ได้ป่วย จะยอมกลืนเลือด ปล่อยให้ “ความลับ” มันล้มหายตายจากไปกับตัวเขาหรือไม่ ด้วยที่เป็นที่รู้กันทั่วไปว่านโยบายรับจำนำข้าวนี้ มีต้นร่างมาจากทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มก้อนบริษัทเอกชนที่หากินกับโครงการรับจำนำข้าวยุครัฐบาลทักษิณก็เคยต้องโทษต้อยคดีจำนำข้าวมาแล้ว แต่ก็ยังมีอำนาจวาสนาเข้ามากอบโกยโครงการรับจำนำข้าวอีกครั้งสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์   การออกมาสร้างราคาให้กับตัวเองทั้งทักษิณ และยิ่งลักษณ์ในฐานะผู้ลี้ภัยในดินแดนเมืองผู้ดี คงต้องบอกกันอย่างตรงไปตรงมาคงจะเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญที่อังกฤษจะอนุมัติเรื่องนี้ง่ายๆ  เพราะหากทักษิณดีจริงก็คงไม่ต้องร่อนไปสะสมหนังสือเดินทางถึง 6 ฉบับ จากประเทศที่กำลังถูกอียูจับจ้องในฐานะที่เป็นประเทศไฟเขียวให้คนสีเทาๆ ใช้ฟรีวีซ่าอียูผิดวัตถุประสงค์ ที่สำคัญพรรคนอร์มินีของทักษิณก็คงจะต้องตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะการที่ “นายใหญ่” อ้างว่ากระบวนการยุติธรรมไทยกลั่นแกล้งรังแกเขา ทว่าบนเวทีโลกก็กำลังจับจ้องถึงพฤติกรรมอดีตผู้นำประเทศไทยเช่นกัน.   “บิ๊กโอ”