ฮาโลวีนกับตำนานผีไทย

by ThaiQuote, 31 ตุลาคม 2561

ฮาโลวีน ซึ่งแม้จะเป็นเทศกาลของฝั่งตะวันตก แต่ก็มีประวัติและตำนานที่น่าสนใจ วันนี้ ThaiQuote จึงขอนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับวันฮาโลวีนเพื่อเป็นความรู้เล็กๆ น้อยๆ เพราะไหนๆ จะออกไปสนุกสนานในวันปล่อยผีทั้งที หากเข้าใจที่มาที่ไปก็จะเสริมให้มีสีสันและสนุกมากยิ่งขึ้น

ฮาโลวีน หลอกผี แบบเดียวกับตำนานผีแม่หม้ายไทย วันฮาโลวีนของทุกปี จะตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม เชื่อว่ามีที่มาจากวันฉลองปีใหม่ของชาวเซลต์ (Celt) ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่เรียกว่า Samhain ซึ่งเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งความตาย ทั้งนี้ ในวันที่ 31 ตุลาคม ชาวเซลต์ (Celt) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในไอร์แลนด์ ถือกันว่าเป็นวันสิ้นสุดของฤดูร้อน และวันต่อมา คือ วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งในวันที่ 31 ตุลาคมนี่เองที่ชาวเซลต์เชื่อว่า เป็นวันที่มิติคนตายและคนเป็นจะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในปีที่ผ่านมาจะเที่ยวหาร่างของคนเป็นเพื่อสิงสู่ เพื่อที่จะได้มีชีวิตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เดือดร้อนถึงคนเป็นต้องหาทุกวิถีทางที่จะไม่ให้วิญญาณมาสิงร่างตน ชาวเซลต์จึงปิดไฟทุกดวงในบ้าน พยายามแต่งกายให้แปลกประหลาด ปลอมตัวเป็นผีร้าย และส่งเสียงดัง เพื่อให้ผีตัวจริงตกใจหนีหายสาบสูญไป จะว่าไปแล้วอันนี้ก็คล้ายๆ วิธีป้องกันผีแม่หม้ายในบ้านเรา ที่แต่งหญิงเพื่อหลอกผี ก่อนโดนผีหลอก จากฮัลโลวีน เป็น ฮาโลวีน ส่วนคำว่า ฮาโลวีน (Halloween) เดิมทีนั้นสะกดเป็น ฮันโลวีน, ฮัลโลวีน, ฮาโลวีน เป็นคำย่อของคำว่า Hallows’ (ฮอลโลว, ฮาโลว) Even (อีเวน) และคำว่า e’en ก็เป็นคำย่อของคำว่า even ซึ่งย่อมาจากคำว่า evening (ค่ำ) ซึ่งเป็นคำที่มีรากคำมาจากภาษาอังกฤษโบราณ ปัจจุบันเป็นที่รู้จักในชื่อ วันอีฟ ออฟ ออลเซ็นต์ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤศจิกายน การฉลองวันฮาโลวีนนิยมจัดกันในสหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา และยังมีในออสเตรเลีย กับนิวซีแลนด์ด้วย รวมถึงประเทศอื่นในทวีปยุโรปก็นิยมจัดงานวันฮาโลวีนเพื่อความสนุกสนาน ในประเทศทางตะวันตก เด็กๆ จะแต่งกายเป็นภูตผีปีศาจพากันชักชวนเพื่อนฝูงออกไปงานฉลอง เรียกว่า การเล่น Trick or Treat (หลอกหรือเลี้ยง) คือการเดินเคาะประตูขอขนมตามบ้าน เจ้าฟักทองตาโบ๋ และที่ขาดไม่ได้สำหรับเทศกาลฮาโลวีนเลย คือ การประดับประดาแสงไฟ และการแกะสลักฟักทองเป็นโคมไฟ เจาะทำตา จมูก และปากที่แสยะยิ้ม เรียกว่า แจ๊ก-โอ'-แลนเทิร์น (jack-o'-lantern) ซึ่งตำนานที่เกี่ยวกับฟักทองนั้น เป็นตำนานพื้นบ้านของชาวไอริช กล่าวถึง แจ๊กจอมตืด ซึ่งเป็นนักเล่นกลจอมขี้เมา วันหนึ่งเขาหลอกล่อปีศาจขึ้นไปบนต้นไม้และเขียนกากบาทไว้ที่โคนต้นไม้ ทำให้ปีศาจลงมาไม่ได้ จากนั้นเขาได้ทำข้อตกลงกับปีศาจ "ห้ามนำสิ่งไม่ดีมาหลอกล่อเขาอีก" แล้วเขาจะปล่อยปีศาจลงจากต้นไม้ เมื่อแจ๊กตายลง เขาปฏิเสธที่จะขึ้นสวรรค์ เพราะเขามีความคิดไปในทางของความชั่วร้าย ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะลงนรก เพราะเขาได้ทำข้อตกลงกับปีศาจไว้ ปีศาจจึงให้ถ่านที่กำลังคุแก่เขา เพื่อให้เขาใช้นำทางไปในทางที่มืดมิด และหนาวเย็น และแจ๊กได้นำถ่านนี้ใส่ไว้ในหัวผักกาดเทอร์นิพที่ถูกเจาะให้กลวง เพื่อให้ไฟลุกโชติช่วงได้นานขึ้น   ฮาโลวีน ชาวไอริชจึงแกะสลักหัวผักกาดเทอร์นิพ และใส่ไฟในด้านใน อันเป็นอีกสัญลักษณ์ของวันฮาโลวีน เพื่อระลึกถึง "การหยุดยั้งความชั่ว" Trick or Treat เพื่อส่งผลบุญให้กับญาติผู้ล่วงลับ และพิธีทางศาสนาเพื่อทำบุญวันปีใหม่ แต่เมื่อมีการฉลองฮาโลวีนในสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกันพบว่าฟักทองหาง่ายกว่าหัวผักกาดมาก จึงเปลี่ยนมาใช้ฟักทองแทน ตำนานผีของไทย “ผี” แม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้มีจริงหรือไม่มี แต่เรื่องราวเหล่านี้มีอยู่ในสังคมทั่วทุกมุมโลก ในประเทศไทยเองก็มีมากมายเล่าขานกันไม่รู้จบ ตำนานผีแบรนด์ไทยอมตะก็อย่างเช่น กระสือ กระหัง ผีพรายในน้ำ ผีตะเคียนในต้นไม้ ผีนางตานี ผีโพงทางภาคเหนือ ผีหลังกลวงถิ่นใต้ ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงประเภทของผี ยังไม่นับเรื่องราวบอกเล่าที่เป็นตำนาน เช่น แม่นาคพระโขนง เปรตวัดสุทัศน์ ที่หลอกหลอนต่อเนื่องมาเป็นร้อยปี ตลอดจนเรื่องผียุคใหม่อย่าง ผีช่องแอร์ สาวชุดดำวัดเสมียนนารี ที่ได้ฟังทีไรแล้วปอดลอยทุกครั้ง เนื่องจากมีความเรียล ซึ่งรู้สึกว่าใกล้ตัวเหลือเกินเมื่อเทียบกับตำนานผีแบบเก่า แต่ด้วยเทศกาลวันฮาโลวีน จึงอยากยกตำนานผีไทยที่มีความคล้ายคลึงกันกับเรื่องเราเล่าของชาวตะวันตก นั่นก็คือตำนาน “ผีตาโขน” ของไทย ซึ่งเป็นเรื่องเล่าและประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตามความเชื่อ การปรับตัวให้สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข เช่นเดียวกับตำนานฮาโลวีนของชาวเซลต์ ชนพื้นเมืองของฝั่งอังกฤษ ผีตาโขน ด่านซ้าย คำว่า “ผีตาโขน” มีการสันนิษฐานกันว่ามาจากเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดกว่า เมื่อพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเสด็จออกจากป่า กลับคืนสู่เมืองนั้น บรรดาผีป่าและสิงสาราสัตว์ทั้งหลายต่างพากันแฝงเร้นมากับชาวบ้านเพื่อรอส่งกลับบ้านกลับเมือง จึงเรียกกันว่า ผีตามคน และเพี้ยนเสียงมาเป็นคำว่า ผีตาโขน ในปัจจุบัน และมีความเชื่ออีกว่า “ประเพณีผีตาโขน” เป็นการละเล่นเพื่อบวงสรวงบูชาดวงวิญญาณบรรพชนที่เสียชีวิตไปแล้วจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบ้านเมือง ดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์หรือความหายนะก็ได้ ดังนั้นเพื่อให้ดวงวิญญาณบรรพชนพอใจ ชาวบ้านจึงจัดให้มีการละเล่นผีตาโขนขึ้น โดยจะมีการแห่ขบวนผีตาโขนไปร่วมกับขบวนแห่งานบุญหลวง ที่วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย จ.เลย หลอกหลอนกัน 3 วัน วันแรก เรียกว่าวันโฮม ขบวนผีตาโขนจะแห่รอบหมู่บ้านตั้งแต่เช้ามืด เป็นการทำพิธีอัญเชิญ “พระอุปคุต” เข้ามาอยู่ที่วัด วันที่สอง เป็นพิธีการแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง คือสมมติให้วัดเป็นเมือง และจะมีการนำบั้งไฟมาร่วมในขบวนแห่เพื่อทำพิธีขอฝนด้วย โดยจะแห่รอบวัด 3 รอบ และมีเหล่าผีตาโขนไปร่วมในขบวนแห่ ซึ่งผีตาโขนในขบวน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ผีตาโขนใหญ่ เป็นหุ่นรูปผี ทำจากไม้ไผ่สาน มีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาสองเท่า มีการตกแต่งรูปร่างด้วยผ้าสีต่างๆ และผีตาโขนเล็ก คือ การที่ชาวบ้าน ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ จะแต่งตัวและใส่หน้ากากเป็นผีตาโขน ร่วมเดินในขบวนแห่ โดยจะเดินเล่นหยอกล้อกับผู้คนที่มาร่วมงานไปเรื่อยๆ วันที่สาม เป็นวันที่ชาวบ้านมานั่งฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ ที่วัดโพนชัย เพื่อเป็นการสร้างกุศลและเป็นมงคลแก่ชีวิต คอสเพลย์ ตาโขน ผู้เข้าร่วมในพิธีนี้จะแต่งกายด้วยผ้าสีสันสดใสให้คล้ายผีและปีศาจ ใส่หน้ากากขนาดใหญ่ ทำจากกาบมะพร้าวแกะสลัก และมีการตกแต่งวาดลวดลายลงบนหน้ากากเป็นรูปผีต่างๆ ให้ดูน่ากลัว มีการเจาะช่องตา จมูก ปาก และใบหู และนำเอาหวดนึ่งข้าวเหนียวมาสวมศีรษะ โดยกดด้านล่างหวดให้เป็นรอยบุ๋มเหมือนหมวก แต่งแต้มด้วยสีสันต่างๆ ให้ดูน่ากลัว หงายปากหวดขึ้นเพื่อสวมลงบนศีรษะ ส่วนชุดจะใช้เศษผ้าหลากสีมาเย็บต่อกันเป็นชุดยาวสวมคลุมทั้งตัว หน้ากากผีตาโขน ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของงาน เพราะเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดความหมายของงานประเพณีและวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ และลวดลายบนหน้ากากยังเป็นศิลปะที่ไม่เหมือนใครควรค่าแก่การอนุรักษ์สืนสาน นอกจากนี้ ยังมี “อาวุธประจำกาย” ของผีตาโขน ซึ่งหลักๆ คือ ดาบไม้ ซึ่งไม่ได้เอาไว้รบกันแต่เอาไว้ควงหลอกล่อและไล่จิ้มก้นสาวๆ ซึ่งก็จะร้องวี้ดว้ายหนีกันจ้าละหวั่น ทั้งอายทั้งขำ แต่ไม่มีใครถือสา เพราะเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมา เหตุที่วิ่งหนีเพราะปลายดาบนั้นแกะสลักเป็นรูปอวัยวะเพศชายหรือ “ปลัดขิก” แถมยังทาสีแดงให้เห็นอย่างเด่นชัด การเล่นแบบนี้ไม่ถือเป็นเรื่องหยาบ หรือลามก แถมยังสร้างสีสันความสนุกสนานให้กับชาวบ้านและผู้ที่มาร่วมงานประเพณีเป็นอย่างมาก เพราะมีความเชื่อกันว่าหากเล่นตลกและนำอวัยวะเพศชายหญิงมาเล่นมาโชว์ในพิธีแห่และงานบุญบั้งไฟจะทำให้พญาแถนพอใจ ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ประเพณีผีตาโขนเป็นการละเล่นที่เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณของผีบรรพชน ผ่านกาลเวลาอันยาวนาน และฟันฝ่ากับระบบการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมกับคนหลากหลายกลุ่มชน ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในชุมชน จึงมีการปรับเปลี่ยนผสมผสานให้เป็นการละเล่นที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น และมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ข้อมูล kapook.com baanjomyut.com dasta.or.th   ข่าวที่เกี่ยวข้อง เชิญเที่ยวงาน “การละเล่นผีตาโขน” มหกรรมหน้ากากนานาชาติ  ประสบการณ์สยอง “พระเจอผี” ในถ้ำหลวง