กศน.คือแสงสว่าง ศธ.ดันเด็ก 1.9 ล้านคนให้ได้เรียน

by ThaiQuote, 3 พฤศจิกายน 2561

เมื่อต้นทางเป็นเช่นนั้น จึงสอดรับว่า "เด็ก" ก็คือต้นทุนที่ต้องเดินคู่ไปกับการศึกษาที่ดี สององค์ประกอบทั้ง "การศึกษา" และ "เด็ก" จึงสอดคล้องกับอนาคตของประเทศไทย แต่สององค์ประกอบในห้วงเวลาปัจจุบัน ยังไม่อาจสอดรับกันได้ดีนัก เพราะตัวเลขเด็กเยาวชนวัยตั้งแต่ 3-18 ปี มีถึง 1.9 ล้านคน ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษา ปัญหาจากความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาของเด็กที่ไม่เข้าถึงการศึกษาได้ ท้องก่อนวัยเรียน เกเรจนหลุดออกจากระบบไปจนถึงหมดหนทางเข้าห้องเรียน หรือแม้ความคาดหวังของพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูบางส่วนที่ไม่ต้องการให้บุตรหลานเข้าเรียน แต่อยากให้ใช้แรง เวลา ของเด็กเยาวชนเหล่านี้ ช่วยทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว นั่นเพราะปัญหาปากท้อง เป็นเรื่องสำคัญ สำคัญมากกว่าอนาคตที่ยังมาไม่ถึง หลายคนส่วนใหญ่จึงคิดตัดตอนตัวเองออกจากระบบการศึกษา เพื่อแสวงหาหนทางทำให้ท้องตัวเอง ครอบครัว ได้แน่นอิ่มตามอัตภาพ แต่ผลนั้นได้สร้างปัญหาให้กับระบบการพัฒนาของชาติ เพราะแน่นอนว่าประเทศย่อมคาดหวังกับพลังของเด็กและเยาวชน ที่จะช่วยต่อยอดสร้างความสำเร็จอันก่อให้เกิดการพัฒนา แต่เมื่อไม่มีการศึกษาสำหรับทุกคน การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ทางออกของเด็กที่ไม่ได้เข้าถึงระบบการศึกษาทั่วไป หลายคนที่คิดได้และเห็นว่าปัญหาทิ้งการเรียนในช่วงเวลาที่อาจไม่เหมาะสม อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับปลายทางของชีวิต ทางออกที่ว่านั้น  ก็ถูกเบนเป้าไปที่ “การศึกษานอกโรงเรียน” ที่จะช่วยสร้างเครดิตให้กับนักเรียนจากกลุ่มข้างต้น ให้เข้ารูปเข้ารอยพร้อมสานต่อการศึกษาสำหรับตัวเอง ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ควรปล่อยผ่าน รัฐบาลก็เห็นปัญหานี้เช่นกัน พลันแนวทางแก้ไขจึงอุบัติขึ้นผ่านนโยบายของ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ที่พุ่งไปยัง สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือชื่อย่อที่คุ้นหูคนไทยว่า "กศน."  ให้ปรับบริบทกับกลุ่มเป้าหมายอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้เด็กทุคนมีโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำได้ และที่สำคัญคือ "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" กศน.ก็ไม่รอช้า ออกข้อสั่งการไปยังทุกจังหวัด เป็นแกนสำคัญในการนำฐานข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ ไปขับเคลื่อนให้มีคณะกรรมการในพื้นที่ ทั้งกลไกระดับจังหวัด ซึ่งมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดลงไปจนถึงระดับอำเภอ ตำบล และชุมชน ซึ่งมีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ร่วมตรวจสอบข้อมูลตัวตนของกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการวิเคราะห์ความต้องการว่า เด็กเหล่านี้ต้องการเข้าเรียนต่อในระดับการศึกษาใด ประเภทใด ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสายอาชีพ ที่เอื้อต่อสภาพจริงของผู้เรียน ศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการ กศน. สะท้อนแนวทางการสรรหา "โอกาส" เพื่อเด็กไทยทุกคนว่า โครงการนี้จำเป็นต้องระดมสรรพกำลังในการขับเคลื่อน ซึ่งระยะที่สำคัญหลังจากมีข้อมูลตัวตนและความต้องการของผู้เรียนแล้ว การเชื่อมโยง ส่งต่อให้หน่วยงานสถานศึกษารับเด็กเข้าเรียน การรักษาสภาพให้เด็กคงอยู่จนจบการศึกษา โดยต้องพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือการติดตามและการรายงานผลเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สำนักงาน กศน.จังหวัดทุกแห่ง ได้มีการประชุมชี้แจง สร้างความรับรู้กับคณะทำงานทุกระดับ วางแผนการดำเนิน ควบคู่ไปกับการตรวจสอบข้อมูล “เคาะประตู รุกถึงที่ ลุยถึงถิ่น” มีครู กศน. และเครือข่ายผู้นำท้องถิ่น ศิษย์ กศน. ร่วมลงพื้นที่เพื่อนำกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง "คาดหมายว่าการศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ของปี 2561 จะเร่งรัดให้เด็กมีที่เรียนไม่น้อยกว่า 10% ของกลุ่มเด็กที่ไม่มีที่เรียน หรืออยู่นอกการศึกษาทั้งหมด" ศรีชัย ตั้งเป้าหมาย ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องต่างเห็นปัญหานี้ด้วยสายตาเดียวกัน การแก้ไขและเร่งลงมือจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กศน. จังหวัดราชบุรี  มอบหมายให้คณะครูลงพื้นที่โดยใช้กลยุทธ์ “เคาะประตู รุกถึงที่ ลุยถึงถิ่น” ในการจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูลประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ส่วนกศน.ประจวบคีรีขันธ์ ก็มอบหมายให้ครู กศน.ตำบล ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา เน้นสอบถามและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่พื้นที่อื่นๆ ทั้ง ระนอง สุโขทัย สกลนคร นครพนม  จันทบุรี ปราจีนบุรี และอีกหลายจังหวัดที่รายงานผลเข้ามายังส่วนกลางแล้ว เด็กเยาวชนหลายคนต่างต้องการเรียนกับ กศน. เพื่อต่อยอดให้ถึงระดับมหาวิทยาลัยอันเป็นเป้าหมายต่อไปสำหรับอนาคตของแต่ละคน และแน่นอนว่ากศน.ที่มีระบบการยืดหยุ่นด้านการเรียนการสอน ยังสอดรับกับความต้องการของเด็กและเยาวชนที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาทั่วไปได้ เพราะอย่างน้อยที่สุด กลุ่มเด็กอีก 1.9 ล้านคน ก็ยังเห็นแสงสว่างที่ปลายทาง จากการที่ กศน. ได้เปิดไฟฉายทางให้กับพวกเขา และประเทศชาติต่อไปในอนาคต ข่าวที่เกี่ยวข้อง อีอีซียกเว้นภาษีสถาบันการศึกษา 8 ปี SMEs โปรเพียบ  รัฐใช้นโยบายภาษี จูงใจสถาบันการศึกษาลงทุนใน EEC