“วิษณุ”คาด พ.ร.บ.กัญชาอาจออกไม่ทันรัฐบาลนี้

by ThaiQuote, 16 พฤศจิกายน 2561

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องการออกกฎหมายเกี่ยวกับการใช้กัญชามาเป็นยานั้น ไม่แน่ใจว่าจะแล้วเสร็จทันในสมัยนี้หรือไม่ เท่าที่ทราบยังไม่มีความคืบหน้าเท่าไร แต่เมื่อมีการเรียกร้องอยากจะใช้น้ำมันกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ เดิมโยนไปให้รอประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่เนื่องจากใช้ระยะเวลายาวนาน เกรงจะไม่ทันการณ์ หรืออาจจะเสร็จไม่ทันในสภาชุดนี้ จึงได้ตัดเอาเฉพาะบางส่วนในกฎหมายยาเสพติด เป็นเฉพาะเรื่องของกัญชาเพียงอย่างเดียว และเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายยาเสพติดเพียงบางมาตราที่เกี่ยวข้องกับกัญชาถือเป็นร่างกฎหมาย ส.ส. และมีการส่งมาขอความเห็นจากรัฐบาล รัฐบาลจึงรับร่างดังกล่าวมาเข้าที่ประชุม ครม.ไปแล้วเมื่อวันอังคารที่ 13 พ.ย. โดยให้ความเห็นชอบและเห็นว่าควรให้นำกลับเข้าสู่สภาได้ "ปกติเมื่อ ครม.รับร่างกฎหมายจากสภามา จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน แต่ครั้งนี้ ครม.รับมาและใช้เวลาเพียง 7 วัน ก่อนจะให้ความเห็นกลับไป โดยมีการตั้งข้อสังเกต ซึ่งตามคิวแล้วตั้งใจจะนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้า ซึ่งถือเป็นกฎหมาย ส.ส. แต่อาจจะไม่ทัน เนื่องจากมีกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับเข้าคิว และเมื่อกฎหมาย 2 ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาเสร็จสิ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเสร็จภายในวันถึงสองวันนี้ และคาดว่าในวันพุธหน้าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช." นายวิษณุกล่าว ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า การจดสิทธิบัตรนั้นไม่ต้องเป็นห่วงยังไม่พิจารณา ก็คงยังไม่ให้จดสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวน่าจะออกมาเป็นบทเฉพาะกาลระยะ 5 ปี เพื่อใช้ในการศึกษาและรักษาโรค ซึ่งขณะนี้ยังไม่จดสิทธิบัตรเลยจะผิดกฎหมายได้อย่างไร ทั้งนี้ รัฐบาลมองในระยะยาวว่าควรจะมีการผ่อนปรน เพื่อใช้ในการรักษาโรค. ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการปลดล็อกกัญชาว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ที่จะออกมา โดยเปลี่ยนฐานะกัญชาจากยาเสพติดประเภทที่ 5 มาเป็นประเภท 2 ต้องเรียกว่าเป็นการคลายล็อกกัญชาเพื่อให้วิจัยและผลิตเป็นยารักษาโรคได้ เพราะกัญชายังอยู่ในยาเสพติดประ เภทที่ 5 เนื่องจากไทยได้ลงนามความร่วมมือกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก อย่างอาเซียนก็ยังอยู่ในพันธะกัญชาเป็นยาเสพติด ดังนั้น การอนุญาตปลดล็อกเพื่อให้อิสระเลยยังทำไม่ได้ กฎหมายจะอนุญาตให้ทำเฉพาะใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ของคนไทยโดยคนไทย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขอเวลา 5 ปี ในการวิจัยพัฒนากัญชาทางการแพทย์โดยต้องกระทำโดยหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวเราจะสามารถพัฒนาสายพันธุ์ สารสกัดออกมาเป็นยาได้ และหากต่างชาติจะเข้ามา เราก็จะสามารถผลิตได้ในคุณภาพที่เท่ากัน และมีราคาที่ถูกกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ป่วย และเศรษฐกิจของประเทศ ผู้สื่อข่าวถามว่า การกำหนดระยะเวลา 5 ปีให้พัฒนาและผลิต แสดงว่าต่างชาติไม่สามารถนำเข้าได้เลยหรือไม่ รมว.สาธารณ สุขตอบว่า คนละเรื่องกัน เพราะหากต่างชาติพัฒนาและผลิตจนเสร็จและมาขอขึ้นทะเบียนในไทย เป็นเรื่องสิทธิบัตรต้องไปคุยกัน แต่จะนำมาใช้เป็นยาก็ต้องมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยอีก ก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่าขึ้นอย่างไรและจะใช้อย่างไร นพ.ปิยะสกลแจงว่า หากจะวิจัยไม่มีข้อห้าม สามารถวิจัยไปได้ เพียงแต่จะมาใช้ในคน ก็ต้องรอร่าง พ.ร.บ.นี้ก่อน เมื่อออกมาก็จะใช้ได้ ส่วนมหาวิทยาลัยรังสิต ถือเป็นเอกชน ก็มาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐก็สามารถดำเนินการได้ อีกทั้งผลงานวิจัยก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับประเทศต่างๆ เราปรับได้ อย่างสูตรต่างๆ ก็ปรับได้ แต่ต้องก่อให้เกิดประโยชน์ในการรักษาโรค ตนคิดว่ามีการเปิดกว้างพอสมควร