กัญชาความหวังมะเร็งระยะสุดท้าย

by ThaiQuote, 17 พฤศจิกายน 2561

องค์การอนามัยโลกรายงานพบผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ทั่วโลกปีละประมาณ 14ล้านคน เสียชีวิตปีละ 8 ล้านคน มากที่สุดคือมะเร็งปอดจำนวน 1.59 ล้านคน แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกประเทศ สำหรับประเทศไทย พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทยต่อเนื่องมานานกว่า 13 ปี ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ล่าสุดในปี 2556 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทุกชนิด 67,184 คน คิดเป็นร้อยละ 16 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่มีปีละ 426,065 คน เพิ่มปีละประมาณ 3,000 คน จังหวัดที่มีอัตราตายสูงที่สุดในประเทศ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทุก 1 แสนคน อันดับ 1 ได้แก่ พะเยา แสนละ 157 คน อันดับ 2 แพร่ แสนละ 149 คน อันดับ 3 ลำปางแสนละ 146 คน อันดับ 4 จันทบุรี แสนละ 144 คน อันดับ 5 ร้อยเอ็ดแสนละ 143 คน ข้อมูลในปี 2552 พบก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่นจากการรักษา การขาดงานผู้ป่วยและผู้ดูแล ค่าเดินทาง รวมเกือบ 80,000 ล้านบาท ข้อมูลล่าสุดปี 2560ของสำนักมะเร็งแห่งชาติระบุว่าจำนวนผู้ป่วยใหม่ในแต่ละปีมีคนป่วยที่เป็นมะเร็ง 15.47 % ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อนข้างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา 5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชาย
  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในเพศหญิง
  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งตับ
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่
นอกจากนี้จากข้อมูลของ haamor.com ระบุว่า โรคมะเร็งมี 4 ระยะหลัก คือ ระยะที่ 1: ก้อนเนื้อ/แผลมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลาม ระยะที่ 2: ก้อน/แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ระยะที่ 3: ก้อน/แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เป็นมะเร็ง ระยะที่ 4: ก้อน/แผลมะเร็งขนาดโตมาก และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง จนทะ ลุ และ/หรือ เข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง โดยพบต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้ และ/หรือ มีหลากหลายต่อม และ/หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต และ/หรือ หลอดน้ำเหลือง/กระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ไขกระดูก ต่อมหมวกไต ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ในช่องอก และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า ระยะลุกลามคือระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นระยะแสดงผล มีอาการของความเจ็บปวดเป็นพื้นฐาน คนไข้จะทนทุกข์ทรมานมาก ซึ่งผู้ป่วยโรคมะเร็งมีแนวทางหรือทางเลือกในการรักษาไม่มากนัก ส่วนใหญ่ต้องใช้กระบวนการคีโมบำบัด และสิ่งที่คนเป็นโรคมะเร็งต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลาของการเป็นโรคคือภาวการณ์เจ็บปวด ซึ่งเป็นภาวะทุกข์ทรมานของโรค และการสูญเสียเงินมหาศาลกับการรักษาและหลายคนทนกับความเจ็บปวดไม่ไหว จนเป็นสาเหตุของการตาย มาระยะหลังคนที่เป็นโรคมะเร็งเริ่มมีความหวังมากขึ้น เพราะจากการศึกษาทั้งจากต่างประเทศและจากห้องทดลองในประเทศเริ่มให้การยอมรับว่าประโยชน์จากสารสกัดกัญชา หลายคนเชื่อว่าสามารถช่วยเหลือได้หลายโรค แต่โรคที่สำคัญที่สุดคือโรคมะเร็ง สารสกัดจากกัญชาเป็นความหวังของคนเป็นโรคมะเร็งที่จะใช้สำหรับรักษาให้รอดโดยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับผลข้างเคียงของยา ระหว่างการรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น บางรายโชคดีอาจหายจากโรค บางรายอาจโชคร้ายต้องตายจากไป แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือเขาจะไม่อยู่ในภาวะที่ต้องทนกับความเจ็บปวดระหว่างที่ต้องอยู่กับโรคนี้ จากข้อมูลของ medthai ระบุว่าสรรพคุณของกัญชามีหลายข้อ แต่ที่พอจะเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งได้แก่ ยอดอ่อนเมื่อนำมาสกัดด้วยแอลกอฮอล์ จะได้สารที่เรียกว่า “ทิงเจอร์แคนเนบิสอินดิคา” ซึ่งเป็นน้ำยาสีเขียว เมื่อกินเข้าไปประมาณ 5-15 หยด จะมีสรรพคุณเป็นยาช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท เป็นยาสงบเส้นประสาท ทำให้นอนหลับ เคลิ้มฝัน แก้โรคสมองพิการ เป็นยาระงับปวด และเป็นยาแก้อักเสบ (ยอดอ่อน) ในทางการแพทย์ยังใช้ประโยชน์จากกัญชาในการรักษาโรคและบรรเทาอาการอย่างหลากหลาย เช่น ใช้แก้ปวดหัวไมเกรน แก้อาการสั่นเพ้อ แก้อาการไอ อ่อนล้า ปวดประจำเดือนของสตรี โรคข้อ หรือกระทั่งโรคมะเร็งบางชนิด นอกจากนี้ ในแพทย์ตำรับไทย ก็มีสูตรยาที่มีสารกัญชาเป็นส่วนผสมไม่น้อยกว่า 5-6 ตำรับ ที่ผ่านมาไม่สามารถนำมารักษาได้เพราะติดล็อกข้อกฎหมายเป็นสารเสพติด ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความหวังที่กฎหมายจะปลดล็อกให้กัญชาสามารถเป็นสมบัติทรัพย์สินของคนไทย เพื่อใช้เป็นยาไทยผลิตรักษา ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่ติดอันดับ 1 ของไทย บางคนโชคดีอาจหายได้ แต่สำหรับคนที่ไม่หายก็ได้หลุดพ้นจากภาวะเจ็บปวดแม้ว่าเขาจะอยู่ในระยะสุดท้ายของมะเร็ง ให้เขาได้สิ้นใจอย่างมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี มีคุณค่า และจากไปอย่างสงบ