มวยคู่เอก “เพื่อไทย” ปะทะ “คสช.” เลือกตั้ง ’62 ใครจะเข้าวิน

by ThaiQuote, 17 พฤศจิกายน 2561

  แม้จะยังคง "คลุมเครือ" ว่าวันเลือกตั้ง จะถูกเลื่อนออกไปจากวันที่ 24 ก.พ.2562 หรือไม่ เพราะหลายพรรคการเมืองก็ออกมาปูดข่าวว่าอาจจะมีเหตุการณ์บางอย่าง ที่ทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปตามกำหนด แม้ล่าสุดที่ ผู้หลักผู้ใหญ่ของรัฐบาล รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มารับปากกับสังคม และยืนยันว่า วันเลือกตั้งไม่ได้ผิดแผกไปจากเดิม แต่สิ่งที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า ถึงอย่างไรเสีย การเลือกตั้งที่คนไทยรอคอยมากกว่า 4 ปี ก็จะต้องอุบัติขึ้นให้ได้แน่นอนในปี 2562 อีกเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย คือศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ขั้วอำนาจทางการเมืองใด จะได้อำนาจเข้ามาบริหารประเทศ ระหว่าง ขั้วเดิม หรือขั้วใหม่ที่อยู่บริหารประเทศในปัจจุบัน สอดส่องสายตาไปบนถนนการเมือง ก็พบว่า "มวยคู่เอก" สำหรับการเลือกตั้ง น่าจะหนีไม่พ้นระหว่าง "ฝ่ายแดง" คือพรรคเพื่อไทย ที่แน่นนอว่านายใหญ่ของพรรคอย่าง "ทักษิณ ชินวัตร"  คงจะต้องสู้เต็มกำลังในการศึกครั้งนี้ และฝ่ายน้ำเงิน อย่างขั้วอำนาจ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่แน่นอนว่า ประกาศก้องในเรื่องสนใจการเมือง ก็ต้องหมายมั่นว่าจะคงอำนาจตัวเองเอาไว้ผ่านสมรภูมิการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงในอนาคต สองขั้วอำนาจอย่าง "เพื่อไทย" และ "คสช." ต่างเริ่มวางหมากและยุทธศาสตร์เตรียมตัวกันไปบ้างแล้ว ทั้งการกระจายพรรคเล็กพรรคน้อยของกลุ่มเพื่อไทย ที่จะเป็นเครือข่ายในการสู้ศึกเลือกตั้งเพื่อหวังชิงการนำบริหารประเทศ รวมถึงหา "แนวร่วม" ทางพรรคการเมืองอื่นๆ ที่มากขึ้น เพื่อหวังจะมาเป็นเสียงที่ผสมกับของตัวเอง ล้มอำนาจของทหารที่ยึดโยงมากว่า 4 ปี แนวร่วมของเพื่อไทยก็คับคั่ง โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ที่น่าจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ ว่าจะสามารถดึงพลังคนรุ่นใหม่ได้มากยิ่งขึ้น กอปรกับ “ขาใหญ่”ของพรรคเพื่อไทยก็กระจายไปคุมกำลังพรรคเครือข่าย หรือพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น จาตุรนต์ ฉายแสง ที่ประกาศจะเดินเท้าเข้าสู่พรรคไทยรักษาชาติ อันเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นพรรคของคนเสื้อแดง เครือข่ายของเพื่อไทย ที่มี “ตู่แดง” จตุพร พรหมพันธุ์ และ “ยุทธ  ตู้เย็น” ยงยุทธ ติยะไพรัช คอยหนุนคอยเชียร์ ฟากฝั่งคสช. ก็เป็นที่ทราบกันว่า "พรรคพลังประชารัฐ" ที่มีโต้โผคนในพรรค ก็เป็นคนเดียวกันกับที่สวมหมวกรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช. ไม่ว่าทั้ง อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ที่เป็นหัวหน้าพรรรค สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เลขาพรรค กอบศักดิ์ ภูตระกูล รตม.ประจำสำนักนายกฯ และสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ากุมบังเหียนพรรคการเมืองใหม่ที่น่าจับตาลงสู่สนามเลือกตั้ง และเหลือแค่เพียงว่าจะลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองเมื่อใด ก่อนจะมีงานใหญ่กับการเลือกตั้งรอคอยเอาไว้ แต่ที่ยก "พลังประชารัฐ" ขึ้นมาเปรียบมวยชกกับเพื่อไทยได้ ก็เพราะว่า พลังการดึงแนวร่วมกลุ่มการเมืองต่างๆ ในเมืองไทย ก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าเพื่อไทยเช่นกัน เพราะพลังประชารัฐอาจมีไม้เด็ดอย่างกลุ่มสามมิตร ของบิ๊กเนมอย่าง "สมศักดิ์ เทพสุทิน" บวกกับพลังของ "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" ที่พร้อมจะหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่ออีกสักสมัย แต่ที่น่าจับตาคือพรรคใหญ่ของเมืองไทยไม่ว่าจะเป็น ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา หรือแม้แต่ภูมิใจไทย ก็ดูเหมือนจะเทน้ำหนักมาให้กับทางคสช.ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เพราะน้อยที่สุดก็ไม่ได้ประกาศศึกอย่างชัดเจนว่าจะสู้ นั่นก็ย่อมหมายถึงได้อีกด้านว่า กลุ่มบิ๊กการเมืองกลุ่มข้างต้นนี้ ก็พร้อมจะหนุนให้สานต่ออำนาจทางการเมืองด้วยเช่นกัน แล้วพรรคเก่าแก่ของเมืองไทยอย่าง “ประชาธิปัตย์” ล่ะ พวกเขาจะไม่ใช่คู่ต่อกรเชียวหรือ? แน่นอนว่าประชาธิปัตย์คือพรรคที่มีฐานแฟนคลับคอการเมืองอยู่ไม่น้อย แต่กับสนามเลือกตั้งล่าสุดที่พวกเขาจะต้องยกทัพเข้าสมรภูมิกลับถูกลดทอนกองเชียร์ลงไปไม่น้อย เพราะต้องไม่ลืมว่า “กำนันคนดัง” สุเทพ เทือกสุบรรณ ลูกหม้อของประชาธิปัตย์ แต่พลิกบทบาทกับอดีตผู้นำม็อบกปปส.ที่นำไปสู่การยึดอำนาจ และหันไปสนับสนุนพรรค “รวมพลังประชาชาติไทย” ที่แน่นอนว่าอาจทำให้ฐานเสียงของประชาธิปัตย์ปั่นป่วนเทคะแนนไปฟากของ “เทพเทือก” ได้ และรวมพลังประชาชาติไทยนี่เอง ที่จะเป็นอีกหนึ่งที่คอยหนุนคสช.ให้สานต่ออำนาจต่อไป และทิศทางของ “ประชาธิปัตย์” ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าพวกเขาไม่สังคายนากับ “เพื่อไทย” และเสียงจากหัวหน้าพรรคคนใหม่แต่หน้าเดิม “มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยึดจุดยืนตัวเองว่าจะไม่ร่วมงานพัฒนาชาติบ้านเมืองกับ “เผด็จการ” อย่างเด็ดขาด นั่นย่อมส่งผลให้ ประชาธิปัตย์ อาจจะต้องโดดเดี่ยวในอนาคตทางการเมือง และจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แนวโน้มการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ผลลัพธ์สุดท้ายน่าจะเป็นเพียงแค่ “เพื่อไทย” หรือ “คสช.” ที่จะได้บริหารประเทศในแนวทางประชาธิปไตยต่อไป กระนั้น ก็ห้ามลืมเด็ดขาดว่า บนเส้นทางการเมืองของไทย “ไม่มีใครเป็นเพื่อนแท้ และไม่มีใครที่จะเป็นศัตรูถาวรด้วยเช่นกัน” เพราะหากผลประโยชน์ลงตัว ต่างคนต่างขั้วที่ไม่คิดว่าจะประสานกันได้ ก็มีโอกาสร่วมงานกัน มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะหักหาญน้ำใจของแฟนคลับเพื่ออำนาจ บารมี เพราะที่ผ่านมา คนไทยก็เห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่น้อย
Tag : นายกรัฐมนตรี คสช. สุวิทย์ เมษินทรีย์ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อุตตม สาวนายน รวมพลังประชาชาติไทย สุเทพ เทือกสุบรรณ ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมศักดิ์ เทพสุทิน จตุพร พรหมพันธุ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยงยุทธ ติยะไพรัช จาตุรนต์ ฉายแสง มวยคู่เอก กอบศักดิ์ ภูตระกูล สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ