รถเมล รถร่วม ขึ้นค่ารถยกแผง 15 วันไม่รู้ผล หยุดวิ่ง

by ThaiQuote, 19 พฤศจิกายน 2561

วันนี้(19 พ.ย.) เวลา 09.20 น. ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นำโดย นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง และนายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน พร้อมสมาชิกประมาณ 200 คนได้เดินทางไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อยื่นหนังสือต่อ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอปรับอัตราค่าโดยสารให้สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริง โดยนายอาคมได้รับข้อเสนอและประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยนางภัทรวดีกล่าวว่า ช่วงเช้าได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ขอปรับค่าโดยสารตามต้นทุนที่แท้จริง ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนอย่างหนัก เพราะเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนมายตลอด เคยยื่นหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมมาหลายครั้ง กระทรวงคมนาคมขอศึกษาต้นทุนค่าโดยสาร ตั้งแต่ปี 2558 ถึงวันนี้ไม่มีคำตอบ รถร่วมฯ ต้องเป็นจำเลยสังคม เพราะบริการไม่ดี สภาพรถไม่ดี ที่ผ่านมาเราไม่ได้เก็บค่าโดยสารตามต้นทุนจริง ทำให้ต้องขาดทุน โดยการยื่นข้อเรียกร้องปรับราคาครั้งนี้ เราจะให้เวลากระทรวงคมนาคมในการพิจารณาภายใน 15 วัน หลังจากได้รับหนังสือจากเรา หากภายใน 15 วัน ถ้ากระทรวงไม่อนุมัติให้เราปรับขึ้นค่าโดยสาร ทั้งนี้ ทราบว่า ทีดีอาร์ไอ และลาดกระบังได้ศึกษาต้นทุนรถโดยสารสาธารณะเสร็จแล้ว จึงเห็นว่ากระทรวงคมนาคม ควรมีคำตอบให้ผู้ประกอบการบ้าง โดยเสนอขอปรับค่าโดยสารรถร้อนจาก 9 บาท เป็น 12 บาทตลอดสาย และรถปรับอากาศจาก 13 บาทเป็น 15 บาท และปรับอัตราเพิ่มหลังจาก 4 กม.แรก อีก 2 บาท นางภัทรวดีกล่าวว่า ผู้ประกอบการไม่ได้ขอให้รัฐบาลซื้อรถให้ แต่ขอเก็บค่าโดยสารตามต้นทุนจริง ตามกลไกลตลาด ผู้ประกอบการพร้อมลงทุน พร้อมเปลี่ยนรถใหม่ เพียงขอค่าโดยสารรถปรับอากาศ 20 บาทตลอดสาย มีตั๋วรายวันเหมาที่ 40 บาท ขึ้นได้ทั้งวันทุกเส้นทาง เราเสนอขนาดนี้แต่รัฐไม่พิจารณาไม่มีคำตอบใดๆ ประชาชนก็ได้รับบริการที่ไม่ดีต่อไป เพราะหากจะให้เราปรับปรุงรถใหม่วันนี้ ภายใต้ ค่าโดยสารเท่านี้ทำไม่ได้ ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องสะสม โดยที่ผ่านมารถ4,000 คนต้องหยุดวิ่งไป 50%แล้ว ขอความเห็นใจ นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชนกล่าวว่า ในการปรับปรุงคุณภาพบริการ ต้องลงทุน ดังนั้นต้องมีแผนพัฒนาธุรกิจที่ชัดเจน แต่ตอนนี้ไม่มีความชัดเจนว่า หากจะซื้อรถใหม่มาลงทุนเท่าไร จะได้เก็บค่าโดยสารเท่าไร ข้อเสนอของผู้ประกอบการคือ รถใหม่ปรับอากาศ มีระบบGPS มีตั๋วอัตโนมัติ ขอจัดเก็บค่าโดยสาร 2 ระยะ คือ อัตราที่ 4 กม.แรก เก็บที่ 20 บาท เกินจากนั้นเก็บที่ 25 บาท ซึ่งตามผลการศึกษาของ สจล.ร่วมกับสถาบันทีดีอาร์ไอ พบต้นทุนค่าโดยสารเกือบ 28 บาท ขณะที่ปัจจุบัน ขสมก.จัดเก็บค่าโดยสารรถ A1,A2,A3,A4 ที่ราคา 30 บาทตลอดสาย โดยขอให้กระทรวงคมนาคมทำแผนธุรกิจ กรณีผู้ประกอบการเปลี่ยนรถใหม่ จะได้เก็บค่าโดยสารเท่าไร เพื่อจะทำแผนลงทุนได้ ประชาชนจะได้รับบริการที่ดี แต่ถ้ากระทรวงไม่มีแผนชัดเจน เอกชนที่ไหนจะกล้าลงทุน ช่วยพิจารณาแผนของผู้ประกอบการที่เสนอมา ที่ผ่านมารัฐบาลลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นแสนล้านบาท มีแผนว่าจะเก็บค่าโดยสารเท่าไร แผนธุรกิจเป็นอย่างไร ชัดเจน แต่รถเมล์ไม่มีแผนอะไรเลย ทุกวันนี้ วันๆ ลดเที่ยววิ่ง ลดคน ก็ขาดทุนเพราะค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนมาก เอกชนต้องแบกรับภาระขาดทุนมาโดยตลอด การขอปรับค่าโดยสารครั้งนี้ให้เป็นไปตามต้นทุน เชื่อว่าจะได้มีบริการที่ดีขึ้น เพราะค่าโดยสารสอดคล้องกับต้นทุน เราสามารถบริหารจัดการ จัดเที่ยววิ่งได้ ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เข้าใจได้ว่าเรื่องค่าโดยสาร เป็นเรื่องการเมือง ทุกรัฐบาลไม่กล้าขึ้น ทำให้ต้องกดค่าโดยสารไว้ กระทบธุรกิจเป็นลูกโซ่ สุดท้ายประชาชนได้รับบริการที่ไม่ดี อย่างไรก็ตามหวังว่าจะได้รับคำตอบที่ดีจากกระทรวงคมนาคม ขณะที่ นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวถึงกรณี ผู้ประกอบการรถร่วมบริการของ ขสมก. จะเข้าเรียกร้องขอปรับค่าโดยสาร เพราะประสบปัญหาขาดทุนว่า เรื่องนี้ยืนยันว่าได้เตรียมข้อมูลไว้คุยกับผู้ประกอบการแล้ว แต่รายละเอียดต้องรอให้เจรจาแล้วเสร็จ และ รมว.คมนาคม จะให้นโยบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ส่วนประเด็นที่การร้องเรียนรอบนี้ขอปรับค่าโดยสารมากถึง 3 บาทนั้น คิดว่าการที่ภาครัฐจะอนุมัติปรับราคาหรือไม่ต้องพิจารณาปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบหลายๆ ด้าน ล่าสุด นายอาคม กล่าวว่า ให้นำข้อเสนอของผู้ประกอบการถร่ามขสมก. เข้าที่ประชุมคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง หาข้อสรุปในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ โดยพิจารณาตามต้นทุนตามความเป็นจริงร่วมกับโครงสร้างต้นทุนอัตราค่าโดยสารใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการได้แจ้งว่ามีต้นทุนค่าบริหารจัดการที่สูงขึ้น ทั้งค่าจ้างแรงงาน และค่าซ่อมบำรุง และในเดือนพ.ค.ปี 62 กระทรวงพลังงานจะปล่อยลอยก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนเพิ่ม จากที่ปัจจุบันปตท.เป็นผู้รับภาระแทน อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการฯเห็นว่าควรให้ขึ้นค่าโดยสาร คาดว่าจะเป็นช่วงหลังปีใหม่ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบในช่วงนี้ นายวิทยา กล่าวว่า พอใจกับผลประชุมในครั้งนี้ ซึ่งสมาคมฯจะรอคำตอบจากคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางภายหลังการประชุมวันที่ 15 ธ.ค.นี้ หากพิจารณาอนุมัติก็อาจจะปรับขึ้นค่าโดยสารอาจเป็นวันที่ 5 ม.ค.หรือ 6 ม.ค.62 ซึ่งผู้ประกอบการรอได้ และรับปากกับ นายอาคม ว่าพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนการให้บริการกับประชาชนดีขึ้นภายในระยะเวลา 1 ปี