BIOTHAI เรียกร้องให้ยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชาอีก 28 คำขอ

by ThaiQuote, 21 พฤศจิกายน 2561

จากกรณีความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ที่ต้องการให้ถอนสิทธิบัตรกัญชาที่ยื่นคำขอไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ ( 21 พ.ย.61)  เพจ BIOTHAI ซึ่งเป็นเพจของมูลนิธิชีววิถี ระบุถึงความจริงเบื้องหลังสิทธิบัตรกัญชาเริ่มเปิดเผยแล้ว ดังนี้   ความจริงเบื้องหลังสิทธิบัตรกัญชาเริ่มเปิดเผยแล้ว !? 1) วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแถลงว่าไม่สามารถปฏิเสธคำขอการยื่นจดสิทธิบัตรได้ "โดยที่สารสกัดจากกัญชาตามธรรมชาติเป็นสารสกัดจากพืช เป็นสิ่งที่กฎหมายสิทธิบัตรของไทยไม่ให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับสิทธิบัตร ดังนั้น ข้อกังวลที่ว่าบริษัทต่างชาติจะได้รับสิทธิบัตรในสารสกัดกัญชาธรรมชาติจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้" อย่างไรก็ตามองค์กรภาคประชาสังคมและนักวิชาการได้ตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่มีการยกคำขอสิทธิบัตรเนื่องจากการตรวจสอบพบเบื้องต้นพบว่า มีจำนวนสิทธิบัตรมากถึง 12-13 สิทธิบัตรที่อาจเกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตรสารสกัดจากพืช และขัดต่อกฎหมายในรายละเอียดอื่นๆตามมาตรา 9 (เช่น ข้อห้ามการขอรับสิทธิบัตรเกี่ยวกับการบำบัดรักษาโรค ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมเพราะกัญชายังอยู่ในบัญชียาเสพติด) และมาตรา 5 (ความใหม่)เป็นต้น 2) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงว่า "คำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาที่เป็นที่สนใจของสังคมมีข้อยุติแล้ว" โดยได้ใช้มาตรา 30 ให้อธิบดียกเลิกคำขอที่ 1101003758 (การใช้ไฟโตแคนนาบินอยด์ หรือสารผสมของสารดังกล่าวในการรักษาโรคลมบ้าหมู) เพราะเป็นคำขอเดียวที่เกี่ยวกับสารสกัดจากพืช "ส่วนคำขอที่เหลืออีก 8 คำขอ ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชา แต่เป็นคำขอที่มีการใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นองค์ประกอบ ก็ดำเนินการได้ต่อตามกฎหมาย ซึ่งสถานะล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบการประดิษฐ์ 5 คำขอ และประกาศโฆษณารอให้ผู้ยื่นขอตรวจสอบอีก 3 คำขอ" (ไม่นับคำขอที่ได้มีการละทิ้งคำขอแล้ว 2 คำขอ ซึ่งจะไม่อยู่ในระบบอีกต่อไป) 3) เมื่อวานนี้ (เช้าวันที่ 20/11/61)ไบโอไทยได้เปิดเผยพบว่ามี 2 คำขอ คือคำขอสิทธิบัตรกัญชาของบริษัท ยูโร-เซลตีเกอ เอส.เอ. คำขอที่ 0601002456 (ส่วนผสมเชิงเภสัชกรรมที่ออกฤทธิ์ของแคนนาบินอยด์สำหรับรูปแบบขนาดยาที่ถูกปรับปรุง) และคำขอที่ 0501005232 (วิธีการสำหรับการทำให้สาร THC บริสุทธิ์) ได้ถูกอัพเดทสถานะเป็น "พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งชี้แจงก่อนรับจดทะเบียน" ซึ่งหมายความว่าคำขอดังกล่าวจะได้รับจดทะเบียนและออกเป็นสิทธิบัตรในเร็วๆนี้ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงในเย็นวันเดียวกันว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ที่จริง 2 คำขอดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้แจ้งปฏิเสธการจดสิทธิบัตรแล้ว แต่เนื่องจากในกระบวนการจดทะเบียนสิทธิบัตร เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบขั้นการประดิษฐ์อย่างละเอียดแล้ว จะต้องแจ้งผลให้ผู้ยื่นคำขอทราบ และหากผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วยก็จะชี้แจงเหตุผล ทั้งนี้ ถ้าผู้ยื่นคำขอไม่ชี้แจง กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะยกเลิกคำขอตามกฎหมายต่อไป 4) ประเด็นคำถามต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญาคือ
  • หนึ่ง เมื่ออ้างว่าคำขอสิทธิบัตรจากกัญชาที่เป็นที่กังขาของสังคมเป็นที่ยุติแล้ว เพราะพบเพียง 1 คำขอเท่านั้นที่เกี่ยวกับสารสกัดจากพืช (ในการแถลงเมื่อ 19/11/61) ทำไมจึงมีการแถลงเมื่อวานนี้ (20/11/61)ว่า ได้แจ้งปฏิเสธการออกสิทธิบัตรเพิ่มเติมจำนวน 2 คำขอของบริษัทยูโร-เซลติเกอ เอส.เอ. ?
  • สอง การปฏิเสธคำขอจำนวน 2 สิทธิบัตรของบริษัทยูโร-เซลติเกอ เอส.เอ. เป็นการปฏิเสธด้วยเหตุผลใด ?
5) ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องสั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาแถลงต่อสังคมว่า คำขอกัญชาที่เหลืออีก 28 คำขอ มีคำขออะไรบ้าง โดยบริษัทใด และมีสถานะเช่นใด ? และเหตุใดจึงไม่มีการยกเลิกทั้ง 28 คำขอ เช่นเดียวกับการยกเลิกคำขอ และการปฏิเสธสิทธิบัตรก่อนหน้านี้รวม 3 คำขอ