ส่องแม่ไก่เงามังกร : ภาพรวมหลังจีนเปิดประเทศจนถึงสถานการณ์ปัจจุบัน

by ThaiQuote, 22 พฤศจิกายน 2561

เปิดประเทศ เปลี่ยนนโยบาย

ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรยาย ภาพรวมหลังจีนเปิดประเทศจนถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ในการอบรมเตรียมความรู้ความเข้าใจ ในกิจกรรมการศึกษาดูงาน โครงการ “มองจีนยุคใหม่  ความท้าทายที่สื่อไทยต้องรู้” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

อาจารย์วรศักดิ์เปิดประเด็นว่า เมื่อมีการเปิดประเทศเมื่อปี 1980 และมีการปฏิรูป ก่อนที่จะมีการปฏิรูปเกิดขึ้น เศรษฐกิจของจีนนั้น เป็นระบบสังคมนิยม หลัง เติ้ง เสี่ยว ผิง ขึ้นเป็นผู้นำและใช้นโยบายเปิดประเทศจึงเริ่มเป็นเสรีนิยมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงตอนนี้  ที่ผ่านมา จีนต้องใช้บัตรปันส่วนในการใช้แลกเครื่องอุปโภคบริโภค ใช้ในการแลกอาหาร เครื่องใช้ต่างๆ  เมื่อปฏิรูปแล้ว เช่นในภาคเกษตร แต่เดิมผลผลิต 80-90 %เป็นของรัฐ  จนเมื่อมีการแบ่งใหม่ 3 ส่วนเป็นของเกษตรกร  3 ส่วนเป็นรัฐ ในฐานะเจ้าของที่ดิน และ 4 ส่วนที่เหลือรัฐจะรับซื้อในราคาถูกกว่าท้องตลาด เพื่อนำไปขายให้คนเมืองอีกต่อหนึ่ง

“ความน่าสนใจในสี่ส่วนที่รัฐซื้อ เพราะทำให้ชาวนามีเงินเก็บ แต่ในอดีตชาวนามีเงินเก็บไม่ได้ เพราะจะถือว่าเป็นชนชั้นนายทุนทันที นี่คือความต่างที่ชัดเจนระหว่างสมัยสังคมนิยมกับสมัยเติ้ง การมีเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเสียง โทรทัศน์ ไม่มีสิทธิ์ซื้อ สมัยเติ้ง มีสิทธิ์ซื้อได้  ทำให้สังคมเกษตจรของจีนเปลี่ยนแปลงสิ้นเชิง รูปธรรมที่ชัดเจนคือธรรมเนียมลูกสะใภ้ทำงานบ้านของครอบครัวสามีทั้งหมด การสู่ขอผู้หญิงจึงมีเครื่องซักผ้าเข้ามารวมอยู่ด้วย   อีกทั้งเรื่องอุตสาหกรรม การทำงานคือการอุทิศให้กับพรรค อดีตต่อให้ทำงานดีแค่ไหนก็ไม่มีการเลื่อนตำแหน่งเพราะทุกคนเท่าเทียมกัน  พอเปิดประเทศ มีสวัสดิการ โบนัสต่างๆเป็นแรงจูงใจ มีกำลังใจมากขึ้นในการทำงาน “ อาจารย์วรศักดิ์อธิบาย

เปลี่ยนประเทศเปลี่ยนระบบ

การมองการณ์ไกลของเติ้ง เสี่ยว ผิง ยินยอมให้นักลงทุนจากต่างชาติสามารถเข้าไปลงทุนในประเทศได้ ภายใต้เขตที่กำหนด  ด้วยต้องการรักษาสังคมสังคมนิยมเอาไว้ จึงต้องตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะ เพราะจีนเองต้องการเรียนรู้จากตะวันตก จากต่างชาติ ที่ผ่านมา จีนยังล้าหลังอยู่มาก แม้แต่ไทยเอง บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เป็นบริษัทไทยรายแรกที่เข้าไปลงทุน  ก็เรียกได้ว่า คือคนสอนวิธีการเลี้ยงไก่ให้จีน

การเปลี่ยนแปลงอีกก้าว แม้จะมีศาลสถิตยุติธรรม แต่อำนาจของเหมามีสูงมาก ทันทีที่ชี้ว่าใครมีความผิด กองกำลังเรดการ์ด ก็จะทำหน้าที่ในการลงโทษ บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปร เติ้ง มองว่า ใครทำผิดก็ขึ้นศาลตามแบบนานาอารยประเทศ  รวมทั้งการปฏิรูปวาระการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ผ่านมา ผู้นำต่างๆของจีน อยู่ในตำแหน่งจนเสียชีวิต ซึ่ง เติ้ง เปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติใหม่ เพราะมองว่าหากยังใช้รูปแบบเดิม จะทำให้ไม่สามารถเตรียมผู้นำรุ่นต่อไปไม่ทันเวลา  จึงนำมาสู่การกำหนดวาระดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ วาระละ 5 ปี ไม่เกิน 2 วาระ แต่ สี จิ้น ผิง ได้เปลี่ยนกฎใหม่เป็นสามารถอยู่ในตำแหน่งอย่างไม่มีกำหนด คือ ตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

ปฏิรูปกระทรวง-รัฐวิสาหกิจ ลดปริมาณ ลดงบประมาณ

ถึงปี 1990 จีนทำการปฏิรูปครั้งใหญ่อีกรอบ  คือการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะมีทั้ง ขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก  ส่วนงานไหนไม่ว่าจะขนาดเท่าไหร่ ถ้ามีการขาดทุน จะโละขาดให้กับเอกชน  ขณะที่เป็นสถานทรงตัว รัฐจะใช้วิธีการประกาศขายหุ้นให้เอกชน แล้วถือหุ้นตามสันส่วนที่ตกลงกัน ส่วนที่มีกำไรต่อเนื่องก็จะได้รับการสนับสนุนต่อไป

ถัดมาคือการปฏิรูปหน่วยบริหาร หรือระดับกระทรวง แต่เดิมมี 41 กระทรวง ถือว่ามีขนาดใหญ่อย่างมาก จนทำการตัดส่วนงานลงจนเหลือ 28 กระทรวง แม้จะทำให้ข้าราชการตกงานจำนวนมาก แต่เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน จีนก็ทำ

ปรับเปลี่ยนสวัสดิการตามความจริง

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือการปฏิรูปสวัสดิการ อดีตที่ผ่านมาสวัสดิการเป็นแบบสังคมนิยม แต่ถ้าเทียบกับไทยแล้ว น้อยกว่า 100 เท่า เพราะรัฐดูแลประชากรตั้งตื่นนอนจนเข้านอน ตั้งแต่เกิดจนตาย ภาพชัดที่สุดคือการศึกษา ยุคก่อนปฏิรูป เยาวชนจีนเรียนฟรีตั้งแต่ประถมจนจบชั้นอุดมศึกษา เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย นักศึกษาจ่ายเพียงเรื่องเดียวคือค่าอาหาร ที่เหลือฟรีทั้งหมด  เมื่อปฏิรูป สวัสดิการดังกล่าวไม่มีอีกต่อไปและถูกแทนที่ด้วยการเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการ ประชากรในประเทศ เมื่อมีเงินเพิ่ม ก็สามารถมีเงินส่งบุตรหลานเรียนได้ด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน ลดสวัสดิการลงในเรื่องหนึ่ง ก็ไปเพิ่มเติมสวัสดิการเรื่องประกันสังคม ภาพชัดเจนคือการมีบริษัทประกันที่รัฐให้การสนับสนุนจำนวนมาก และมีประกันในทุกๆเรื่อง เช่น ประกันเรื่องการศึกษา ซึ่งเสียเงินไม่กี่ร้อยหยวนในการสมัคร แต่สามารถลดค่าใช้จ่ายบุตรหลานลงไปได้มากกว่า 50 % ซึ่งเป็นผลดีกว่าครอบครัวที่ไม่ได้ทำประกันดังกล่าว

ปฏิรูปการเมือง รับนายทุนนั่งร่วมพรรคฯ

อีกสิ่งปฏิรูปที่เกิดขึ้นจากเติ้ง คือ การเมือง เมื่อแนวคิดเสรีนิยมเริ่มผลิบานในระดับหนึ่ง รัฐจึงนำเอาเอกชนเข้ามาลงทุนต่างๆ ในยุคนั้น เอกชนของจีนเกิดขึ้นจำนวนมากมาย พรรคคอมมิวนิสต์จีนบอกว่า เอกชนเหล่านี้ มีบุญคุณต่อประเทศชาติ เพราะส่วนหนึ่งเคยเป็นข้าราชการในกระทรวงต่างๆ เมื่อผ่านการปฏิรูประดับกระทรวง ข้าราชการจำนวนหนึ่งผันตัวเองไปเป็นภาคเอกชน และประสบความสำเร็จ ทำให้ปี 1990 พรรคฯประกาศรับชนชั้นนายทุนเข้าเป็นสมาชิกพรรคฯเมื่อใครก็ตามที่เริ่มต้นชีวิตจากศูนย์ ก้าวขึ้นมาเป็นนักธุรกิจระดับใหญ่ได้ รัฐถือว่ามีบุญคุณต่อประเทศชาติ จะได้รับการเชิญมาเป็นสมาชิกพรรคฯ เพื่อเป็นหน้าเป็นตาพรรค

จนมาถึงปี 2000 เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก( WTO ) หลังใช้ความพยายามเข้าร่วม 15 ปี ท่ามกลางการคัดค้านเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพราะเหตุผลเศรษฐกิจจีนยังไม่เสรี  จึงเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปทั้งระบบ เพื่อความเป็นเสรีอย่างแท้จริง

“การใช้ความพยายาม15 ปี กว่าจะเป็นสมาชิก  มันจึงมีความสำคัญอย่างมาก ความสำคัญอยู่ที่จีนพร้อมที่จะมุ่งสู่การค้าเสรี ฉะนั้นถ้าติดตามความเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2000 จนถึงวันนี้ จีนเวลาไปเยือนต่างประเทศ มักจะชูเรื่องการทำข้อตกลงการค้าเสรี แม้แต่กับอาเซียน ก็มีข้อตกลงการค้าเสรีจีนกับอาเซียน  ภาพชัดเจนคือการจัดการประชุมที่หนานหนิงคือการชูการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศเหล่านี้ “

การผลักดันการค้าเสรี คือการที่จีนมีความพร้อมในการแข่งขันกับประชาคมโลก เพราะว่าถ้าดูหัวใจการค้าเสรี คือเรื่องการลดพิกัดภาษีศุลกากรของสินค้า เมื่อเข้าร่วม WTO การเงินของจีนก็เสรีมากขึ้น จีนจะมาเปิดสาขาในไทยก็ได้ และไทยสาขาไปตั้งธนาคารในจีนก็ได้เช่นกัน  ผิดกับสมัยก่อนที่ห้ามเด็ดขาด และทำได้เพียงสาขาตัวแทน  ทำให้เห็นภาพธนาคารจีนตั้งขึ้นในย่านสุขุมวิทจำนวนมาก  ทำให้การกู้เงินในการทำธุรกิจเป็นเรื่องที่สะดวกมากขึ้น

‘อำนาจอ่อน’นำชาติ

การเมืองระหว่างประเทศของจีนที่มองจีนเป็นภัยคุกคาม เป็นมาตั้งแต่สมัย หู จิ่น เทา  นำประเทศ สหรัฐอเมริกาทำหนังสือเกี่ยวกับการเป็นภัยคุกคาม และได้รับการปฏิเสธว่า อำนาจที่จีนจะใช้นำชาติ คือ อำนาจอ่อน (Soft power) ถึงปัจจุบันการดำเนินกิจการต่างๆระหว่างจีนกับชาติต่างๆจึงเดินไปในลักษณะนี้ 

“ในความหมายที่กระชับสั้นที่สุด การใช้อำนาจอย่างดุดันแบบ อำนาจแข็ง (hard power) แต่ในกรณีนี้ หากต้องการได้อะไร ก็ใช้วิธีการที่ไม่ใช้กำลังบังคับและคุณก็เต็มใจให้  จึงเป็นอะไรที่น่าสนใจ มีหลายรูปแบบ จีนจะเข้าไปหาแต่ละประเทศที่จีนต้องการหาประโยชน์ด้วย ในรูปแบบ การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ  ซึ่งการช่วยเหลือแบบนี้ มีหลายระดับด้วยกัน ตั้งแต่เข้มข้นที่สุด คือ การให้เปล่า ถัดมา เป็นการช่วยแบบให้กู้ยืมไม่มีดอกเบี้ย ต่อมาเป็นกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ”

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่จะตามในลักษณะที่น่ากังวลสำหรับมุมมองของอ.วรศักดิ์ ซึ่งได้ยกตัวอย่างของประเทศลาวและกัมพูชา ที่ได้รับการช่วยเหลือจากจีนในระดับมหาศาล ขนาดที่ผู้นำกัมพูชา เคยให้สัมภาษณ์มากกว่าหนึ่งครั้งในหนึ่งปีว่า ถ้าไม่มีจีน กัมพูชาจะไม่เจริญแบบนี้  สิ่งที่จีนได้ในการให้ความช่วยเหลือ 2 ประเทศนี้ ในกัมพูชามีตึก ห้าง ต่างๆมากขึ้น เป็นสิ่งที่จีนลงทุนทั้งหมด แลกกับการไล่คนกัมพูชาออกไปเพื่อให้คนจีนเข้ามาอยู่แทน

ขณะที่ลาวนั้น ธุรกิจทุกอย่างเป็นจีนที่เข้าไปลงทุน  ปัจจุบันใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีคนจีนเข้าไปอยู่อาศัย ไม่ต่ำกว่า5แสนคน  เมื่อคนมามากขึ้น ก็จะขอเอาแต่แรงจีนมาทำงาน ไม่เอาแรงงานลาว ที่พักอาศัยก็จะขอใกล้ที่ทำงาน  ทั้งหมดนี้ 2 ประเทศต้องไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ด้วยความเต็มใจ