เอาให้ถ่องแท้ “บัตรคนจน” คืออะไร

by ThaiQuote, 24 พฤศจิกายน 2561

บัตรคนจน เกิดเป็นกระแสร้อนแรงขึ้นมาในรอบสัปดาห์นี้ หลังจากรัฐบาลขยับอย่างหนักด้วยการเพิ่มงบประมาณเพื่ออัดเข้า "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันทั่วไปว่า "บัตรคนจน" เพราะสิ่งทีรัฐบาลเติมเต็มลงไปคือเพราะเหตุผลที่ว่าต้องการช่วยเหลือคนจนที่มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันก็เป็น "บ่อ" ให้แต่ละพรรคการเมืองเลือกถล่มรัฐบาล กอปรกับช่วงใกล้หาเสียงเลือกตั้ง จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเจตนาที่แท้จริงของรัฐบาล หวังผลกับเรื่องนี้เพื่อต่อยอดอำนาจในอนาคตหรือไม่ แต่เรื่องการเมืองก็ให้การเมืองเขา "ซัด" กันเองต่อไป ThaiQuote ขอพาไปทำความรู้จักกับ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" หรือ "บัตรคนจน" กันอย่างถ่องแท้ ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร และคุณประโยชน์ของเจ้าบัตรที่โด่งดังในยุคนี้มีอะไรบ้าง รวมถึงใครบ้างที่จะได้ถือบัตรนี้ ไปหาคำตอบกัน "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" คือบัตรที่รัฐบาลมอบสิทธิให้ประชาชนคนไทยผู้มีรายได้น้อย เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาค่าครองชีพ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินจำนวน 300 บาทต่อเดือน (หรือ 3,600 บาทต่อปี) และ 2. กลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่กิน 100,000 บาท จะได้รับเงินจำนวน 200 บาทต่อเดือน (หรือ 2,400 บาทต่อปี) เงินในส่วนนี้มาสามารถนำไปซื้อสินค้าต่างๆ ใน 3 หมวด
  1. สินค้าอุปโภค-บริโภค เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ประจำวันจำพวก สบู่ ผงซักฟอก และพวกยารักษาโรค ฯลฯ
  2. สินค้าเพื่อการศึกษา เช่น อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน
  3. สินค้าเพื่อเกษตรกรรม เช่น เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มนโยบายในเฟสแรก คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560-27 ก.ย. 2561 รัฐใช้เงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอยู่ 11.1 ล้านรายไปแล้วรวม 42,440 ล้านบาท ซึ่้งจำแนกได้เป็น -ร้านธงฟ้าประชารัฐ 41,318 ล้านบาท -ร้านก๊าซหุงต้ม 59.5 ล้านบาท -รถ บขส. 111.7 ล้านบาท -รถไฟ 217.6 ล้านบาท -รถไฟฟ้า (เริ่ม 20 ก.ค. 2561) 8.7 ล้านบาท -เงินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต (โอนเข้ากระเป๋าเงิน e-Money) 724.6 ล้าน ส่วนการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพจากกองทุนผู้สูงอายุสำหรับภาษีสรรพสามิตและสุรายาสูบ โดยโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ให้กับผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามสิทธิที่ได้รับ คือเดือนละ 50 บาท และ 100 บาท เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกและกำลังซื้อให้ผู้มีสิทธิ สามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้จ่ายได้ตามความต้องการ และยังได้พัฒนารูปแบบการชำระเงินให้สามารถชำระเงินผ่านทาง Moblie Application ถุงเงิน โดยมีร้านค้าที่ใช้งานผ่าน Application ถุงเงินแล้ว 7,837 ร้านค้า เป็นเงิน 140.85 ล้านบาท กระนั้นก็ตาม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังเห็นชอบให้ปรับรูปแบบการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากร้านค้าประชารัฐสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถนำเงินที่ได้รับเพิ่มเติมเดือนละ 100-200 บาท ออกมาใช้จ่ายเป็นเงินสดได้ โดยที่ไม่ต้องนำไปซื้อของในร้านค้าประชารัฐเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกและช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้ได้ตามความต้องการโดยมาตรการนี้จะมีระยะเวลาสั้นๆ เพียง 4 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนก.ย. – ธ.ค.นี้ นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบในหลักการโครงการอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้มีรายได้น้อยภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้น้อยจำนวน 11.4 ล้านคนที่ลงทะเบียนไว้ และมีซิมโทรศัพท์มือถือของตัวเองจะมีสิทธิใช้อินเตอร์เน็ตฟรี เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือโครงการต่างๆ จากรัฐบาล รวมทั้งยังช่วยให้ได้รับประโยชน์จากข้อมูลความรู้ที่นำไปใช้ประกอบอาชีพและพัฒนาตัวเองจนหลุดพ้นจากความยากจนได้