ปปส.ย้ำ กัญชา ยังเป็นยาเสพติดให้โทษ

by ThaiQuote, 25 พฤศจิกายน 2561

ความคืบหน้าปลดล็อคกัญชา ล่าสุด  นายนิยม  เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) ชี้แจงแนวทางการดำเนินการภายหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 รับหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยนายสมชาย แสวงการ และคณะ เพื่อผ่อนปรนการใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยและประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้าหรือส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง รวมถึงการนำไปใช้ตามคำสั่งของแพทย์ เพื่อการบำบัดรักษาโรคหรือเพื่อการศึกษาวิจัย ซึ่งที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้น จำนวน 29 คน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยได้กำหนดระยะเวลาการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติตั้งคณะกรรมาธิการฯ   สำหรับแนวทางการดำเนินการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ประกอบด้วย นายสมชาย  แสวงการ ประธานกรรมาธิการ นายแพทย์ เจตน์  ศิรธรานนท์ และนายวัลลภ  ตังคณานุรักษ์ รองประธานกรรมาธิการ พลเอก รังสาทย์  แช่มเชื้อ ลขานุการคณะกรรมาธิการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ เฉลิมชัย  บุญยะลีพรรณ โฆษกคณะกรรมาธิการ ได้มีการประชุมนัดแรกขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 ณ อาคารรัฐสภา 3 ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดกรอบระยะเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยจะมีการประชุมพิจารณาสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อให้การพิจารณาแล้วเสร็จภายกำหนด คือ วันที่ 21 มกราคม 2562   โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้แก่
  1. ยังคงกำหนดให้ “กัญชา” เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งการใช้เสพเพื่อความบันเทิงหรือสันทนาการยังเป็นความผิดตามกฎหมาย
  2. ห้ามมิให้ผลิต นําเข้า หรือส่งออก เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต เฉพาะในกรณีจําเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
  3. ผู้มีสิทธิขออนุญาต ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย หรือองค์การเภสัชกรรม ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง แพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์
  4. ห้ามจําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับใบอนุญาต การมีไว้ในครอบครองตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป ให้สันนิษฐานว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย
  5. แพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตสามารถสั่งให้ผู้ป่วยใช้เพื่อการศึกษาวิจัยและการบำบัดรักษาโรคได้ โดยไม่เป็นความผิด
  6. ผู้ป่วยที่แพทย์สั่งให้ใช้ สามารถมีไว้ในครอบครองได้ไม่เกินจํานวนที่จําเป็นสําหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัวตามที่แพทย์สั่งได้ โดยไม่เป็นความผิด
  นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “จากการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการข้างต้นแล้ว เชื่อว่าการผ่อนปรนให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย์ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ จะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ และมีผลบังคับใช้ได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ป่วยในการใช้กัญชาอย่างถูกต้อง เหมาะสม ปลอดภัย และมีผลในการบำบัดรักษาโรคอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วย แพทย์ ประเทศชาติ และสังคม ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อเตรียมการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศต่างๆ เพื่อรองรับการบังคับใช้ ร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้การกำกับดูแลและป้องกันไม่ให้มีการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ข้างต้นต่อไป”