ทำความรู้จัก ชนเผ่าสุดโหด "เซนติเนล" ใครเข้าใกล้ต้องโดนสังหาร

by ThaiQuote, 26 พฤศจิกายน 2561

"เซนติเนล" คือพื้นที่ใดของโลก และเหตุใดกันถึงทำให้พวกเขาเหล่านั้น ปฏิเสธโลกภายนอก ที่มันรุดหน้าด้วยเทคโนโลยีอย่างหลากหลาย

 

ตกตะลึงกันไปทั่วโลก หลังจากการเสียชีวิตของ "จอห์น อาเลน เชา" หนุ่มวัย 27 ปีสัญชาตอเมริกัน ที่ถูกชาวเผ่า "เซนติเนล" ระดมสังหารด้วย "ธนู" จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 พ.ย.61 หลังจากที่เขาพยายามเข้าไปในพื้นที่เพื่อเผยแพร่ศาสนาที่เกาะเซนติเนล เหนือ

เหตุผลที่ทำให้คนทั่วโลกหันมาสนใจเหตุการณ์นี้ นั่นเพราะชาวเซินติเนล ปฏิเสธโลกภายนอกอย่างเด็ดขาด เมื่อ "จอห์น" เข้าพื้นที่ด้วยเจตนาที่ต้องการ ก็ไม่พ้นจะต้องถูกสังเวยด้วยชีวิต เหนือไปกว่านั้น เขาพยายามเข้าไปบนเกาะแห่งนี้ถึง 2 ครั้ง และก็ถูกระดมยิงด้วยธนู แต่ก็รอดมาได้ กระทั่งมาเสียชีวิตลงในการพยายามเข้าไปในครั้งที่ 3 และยังไม่สามารถนำศพของเขาออกมาได้เลย

คำถามที่น่าสนใจคือ "เซนติเนล" คือพื้นที่ใดของโลก และเหตุใดกันถึงทำให้พวกเขาเหล่านั้น ปฏิเสธโลกภายนอก ที่มันรุดหน้าด้วยเทคโนโลยีอย่างหลากหลาย

 

 จอห์น อัลเลน เชา มิชชันนารีชาวอเมริกัน ผู้เสียชีวิตจากคมธนูของชนเผ่าเซนติเนล

 

จากกการค้นหาข้อมูลพบว่า เกาะเซนติเนล เป็นที่รับรู้ว่ามีอยูในแผนที่โลก แต่ขณะเดียวกันชาวโลกก็แทบจะไม่รู้จักถึงที่มาที่ไป และไม่ต้องพูดถึงว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ใน "เกาะเซนติเนล" มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง ซึ่งมันอาจเปรียบได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวคือดินแดนสนธยา

และข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัดทำให้การสืบค้นเป็นไปได้ยาก และแทบจะไม่มีใครเข้าไปสำรวจพื้นที่แห่งนี้เลย แต่สำหรับในแง่ภูมิศาสตร์แล้ว เกาะเซนติเนล เป็นเกาะขนาดเล็ก มีพื้นที่อยู่แค่เพียง 3.2 หมื่นไร่ หรือให้เปรียบเทียบก็เล็กกว่า จ.ภูเก็ตถึง 10 เท่า

ตั้งอยู่ใกล้กับเกาะอันดามัน และเกาะนิโคบาร์ ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองของประเทศอินเดีย และคาดว่ามีประชากรอยู่ราวไม่เกิน 150 คน รูปแบบการดำเนินชีวิตยังคล้ายคลึงกับคนยุคโบราณ ชนเผ่าจะอาศัยการล่าสัตว์ จับปลา (เพราะอยู่ติดกับทะเล) และเก็บของป่า "เพื่อยังชีพ" เท่านั้น

 

ประกอบกับสภาพเกาะเซนติเนลที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่ดีอย่างมาก ซึ่งมันทำให้ชนเผ่าไม่ต้องเพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์ เพราะความอุดมสมบูรณ์ทำให้พวกเขาสามารถหา และล่าได้อย่างเต็มที่

ที่น่าสนใจคือรูปแบบการใช้ชีวิตเช่นนี้ในปัจจุบัน มีการคาดการณ์ว่าพวกเขาดำรงชีวิตแบบนี้มาแล้วถึง 5 หมื่นปี และไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใดๆ เลย!!

แต่เอกสารในยุคโบราณ ซึ่งอ้างว่าเป็นของ "มาร์โค โปโล" นักสำรวจชื่อก้องของโลกในยุคก่อน ซึ่งกล่าวถึง "เกาะเซนติเนล" ในช่วงศตวรรษที่ 13-14 หรือราว 700 ปีก่อน ว่าชาวเซนติเนล นับเป็นชนเผ่าที่มีความโหดร้ายอย่างที่สุด และพวกเขาจะกินทุกอย่างที่จับมาได้

รวมถึงในปี 1981 หรือพ.ศ.2524 ไม่ถึง 40 ปีที่ผ่านมา มีเรือของชาวปานามา ล่องเรือหลงเข้ามายังเกาะนี้ และก็ถูกชาวเซนติเนลระดมยิงด้วยธนูหมายจะเอาชีวิต พวกเขาชาวปานามาต้องหลบซ่อนอยู่ในเรือนานหลายสัปดาห์ กระทั่งมีคนเข้ามาช่วยเหลือนำทั้งหมดออกจากพื้นที่ โดยพวกเขาก็ไม่ได้เอาเรือที่หลงเข้ามาในพื้นที่กลับไปด้วย และเรือลำน้ำก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

รวมถึงก่อนหน้านั้น คณะของ National Geographic เข้าไปถ่ายทำสารคดีในปี 1974 หรือ พ.ศ.2517 แต่ยังไม่ทันได้ลงจากเรือก็ถูกลูกธนูพุ่งเข้าใส่เช่นกัน และคณะก็ต้องยกเลิกการถ่ายทำสารคดีไปอย่างไม่มีกำหนด

 

 

สิ่งที่น่าจะยืนยันความ "สันโดษ" ที่ไม่ต้องการให้ใครมายุ่งวุ่นวาย บวกกับชื่อเสียงความโหดร้าย ก็ทำให้เกาะเซนติเนลหลุดพ้นในยุคล่าอาณานิคมในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 มาได้ เพราะถึงแม้ว่าขณะนั้นอินเดียจะถูกอังกฤษเข้ายึดครองก็ตาม แต่ทางการของอังกฤษก็ไม่ได้เข้ามาจัดการพื้นที่ "เกาะเซนติเนล" และปล่อยให้ชนเผ่าใช้ชีวิตตามปกติของพวกเขาต่อไป

กระนั้นก็ตาม ยังมีข้อมูลที่ทางการอังกฤษอ้างว่า ในช่วงศตวรรษที่ 18 หรือราวพ.ศ.2423 กลุ่มนักสำรวจ หรือทหารชาวอังกฤษก็ยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดนัก ได้จับครอบครัวชาวเซนติเนลรวม 6 คน ประกอบไปด้วย ผู้ใหญ่ 2 คน เด็กอีก 4 คน เดินทางไปยังประเทศอังกฤษ

แต่เมื่อถึงดินแดนผู้ดีไม่ได้นานนัก ผู้ใหญ่ทั้ง 2 คนชาวเซนติเนลก็เสียชีวิตจากการติดเชื้อ กลุ่มชาวอังกฤษจึงตัดสินใจนำเด็กทั้ง 4 คนกลับคืนสู่เกาะเซนติเนล และตลอดเวลาที่อังกฤษปกครองเซนติเนล ก็ไม่เคยมีครั้งใดนับจากนั้น ที่จะมีคณะเข้าไปยังพื้นที่อีกเลย

 

ภายลังที่อินเดียได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ ก็ยังไม่ได้รับการต้อนรับจากชาวเซนติเนลแม้แต่น้อย แม้จะมีความพยายามหลายครั้งที่ต้องการเข้าพื้นที่ แม้จะนำทั้งสิ่งของ และของใช้ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวเซนติเนลเพื่อแสดงถึงความเป็นมิตร แต่ก็ไม่เป็นผล และปัจจุบัน อินเดีย ได้ประกาศให้ เซนติเนล เป็นเขตหวงห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าไปอย่างเด็ดขาด  

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ศิลปวัฒนธรรม businessinsider.com