ก.อุตฯ เดินหน้า “Factory 4.0” ดูแลแรงงานทั้งระบบ

by ThaiQuote, 30 พฤศจิกายน 2561

  ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายในการปาฐกถาพิเศษ “Factory 4.0 : อุตสาหกรรมมั่นคงของแรงงานไทย” ณ สำนักงานเทศบาลตำบลแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ ว่า ปัจจุบันการแข่งขันทางการค้าและระบบเศรษฐกิจโลกมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมาจากปัจจัยด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทำให้ทุกภาคส่วน เริ่มมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาช่วยในการทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา สำหรับปัจจัยหนึ่งที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญ และเล็งเห็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน การทำงานร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีและแรงงานคน โดยการปรับเปลี่ยนทักษะ (Re-skill) และเพิ่มทักษะ (Up-skill) ฝีมือและความชำนาญทั้งในเชิงคุณภาพและมาตรฐานของแรงงานไทยให้สอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง     ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ “Factory 4.0” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐจะให้การสนับสนุนส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนและความยุ่งยากในการใช้บริการกับภาครัฐลง การพัฒนาชุมชน การส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ SME และการดูแลองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจฐานราก รวมไปถึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาแรงงานควบคู่ไปกับการสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น                 รวมไปถึงการสร้างงานและอาชีพเสริม โดยเฉพาะผู้สูงวัยในภาคการผลิตที่จะกลับสู่ชุมชน คนเหล่านี้ต้องอยู่ได้โดย “ไม่เป็นภาระลูกหลาน” ซึ่งจะเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน ผู้ประกอบการควรมีส่วนร่วมในการช่วยยกระดับชุมชนให้เข้มแข็งเช่นกัน โดยภาคเอกชนจะเป็นกลไกในการช่วยเหลือชุมชน ส่วนภาครัฐจะเป็นผู้ส่งเสริมและสนับสนุนเชิงนโยบาย     ขณะเดียวกันกระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐขับเคลื่อนและพัฒนา ด้านแรงงานภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้ครอบคลุมในทุกมิติทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.การพัฒนากำลังคนในระดับอาชีวะ เน้นผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในระดับอาชีวะร่วมกับภาครัฐและภาคการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2.การพัฒนาฝีมือแรงงานภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ตั้งแต่ การอบรมพัฒนาแรงงานให้มีความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีเฉพาะ โดยในปี 2562 เฉพาะในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมเองจะมีการพัฒนาแรงงาน ประมาณ 70,000 คน และหากนับการได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 60–62 จะมีการพัฒนาแรงงานรวมถึง 210,000 คน 3.การพัฒนาแรงงานหลังเกษียณ สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับแรงงานสูงวัย เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่วัยเกษียณ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้เกษียณอายุ ในช่วงอายุ 55-60 ปีที่มีความตั้งใจที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจ ให้สามารถเขียนโมเดลธุรกิจอย่างง่าย มีเครือข่ายเชิงธุรกิจ และเกิดความภูมิใจในการประกอบธุรกิจของตนเอง ข่าวที่เกี่ยวข้อง “อุตตม” เปิดยุทธศาสตร์ “Factory 4.0” มอบของขวัญปีใหม่ผู้ประกอบการ