จากครอบครัวคนจน ....สู่เบื้องหลังบัตรสวัสดิการของรัฐ..เพื่อคนไทย

by ThaiQuote, 1 ธันวาคม 2561

นั่นเพราะความรู้ความสามารถของตัวเธอ บวกกับประสบกาณ์ที่มากล้นในด้านการเงิน ก็ส่งผลให้เธอต้องมารับงานใหญ่ กับการดีไซน์นโยบายต่างๆ ของแต่ละกระทรวงในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อมาบรรจุอยู่ใน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” และเป็นการยกระดับให้พื้นฐานชีวิตของผู้ที่มีรายได้น้อย ได้พยุงตัวเองพร้อมครอบครัวให้มีการเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น นั่นเพราะความจนของเธอในวัยเด็ก ทำให้เธอรู้ว่า คนจนต้องการอะไร

 

ThaiQuote เคาะห้องทำงานของเธอที่กระทรวงการคลัง เพื่อเปลือยความคิดของหญิงเก่งดีกรีคำนำหน้านามว่า “ดร.” อย่างนฤมล เพื่อสะท้อนว่าสิ่งใดที่ทำให้เธอก้าวขึ้นมาสู่จุดสำคัญในการทำงานเพื่อประชาชน ผ่านนโยบายทางการเมือง หน้าที่การงานในตำแหน่งผู้ช่วย รมว.คลัง โดยเฉพาะเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่หากจะบอกว่า “นฤมล” และทีมงานคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังก็คงไม่ผิดนัก ผู้ช่วย รมว.คลัง เล่าถึงที่มาของการทำงานว่า ผู้ใหญ่ให้มาดูบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยตรง อยากจะทำเพราะคือ Passion ของตนเองด้วย เนื่องจากมาจากคนจน มีวันนี้ได้เพราะได้เรียนต่อจากทุนการศึกษาที่มาจากภาษีของประชาชน และไม่ใช่แค่ภาษีเงินได้ส่วนบุคคลที่สร้างเราขึ้นมา หากแต่คือภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประชาชนทุกคนต้องจ่ายต้องชำระ และมาทำงานก็ยังได้รายได้จากภาษีของประชาชนในการเลี้ยงชีพตัวเองอีก ก็เลยทำให้รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณของประชาชน ซึ่งก็ต้องทำงานเพื่อกลับคืนประโยชน์ไปให้กับประชาชน อีกเรื่องสำคัญสำหรับหน้างานของ “นฤมล” คือเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ที่กระทวงการคลังก็เป็นอีกขาหนึ่งในอีกหลายขาของรัฐบาล ที่ต้องการให้หนี้นอกระบบของประเทศเป็น “ศูนย์” ให้ได้ จากเดิมที่เป็นหน้าที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งผลที่ผ่านมาแม้จะดำเนินการอย่างหนัก แต่ก็ไม่อาจแข็งขืนสู้กับกลุ่มนายทุนเงินกู้นอกระบบได้ กระทั่งทหารเข้ามาใช้กำลัง

 

กอปรกับการบูรณาการร่วมกันกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน รวมถึงฝ่ายกฎหมายทั้งอัยการ ศาล ก็ทำให้งานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม “เจ้าหนี้นอกระบบก็มีอิทธิพลทั้งนั้น สศค.ทำงานไม่ได้ ลงไปก็แก้อะไรไม่ได้ แต่รัฐบาลจริงจังจะปราบปราม เราจึงได้เห็นภาพกำลังทหารลงไปในพื้นที่ มีศูนย์ดำรงธรรมเกิดขึ้น มี ธ.ก.ส. ออมสิน แบงก์ของรัฐมีสินเชื่อฉุกเฉินให้เพื่อชำระก่อนไม่เกิน 5 หมื่นบาท ฝ่ายปกครอง ฝ่ายกฎหมาย ก็เข้ามาช่วย เช่น หากเอาที่ดินไปจำนองไว้กับเจ้าหนี้ที่ คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทหารก็ต้องลงไปเพื่อบังคับให้เจ้าหนี้ “คาย” ที่ดินของลูกหนี้ออกมา และเข้าสู่การประณอมนี้ หากโอเคตกลง แบงก์รัฐก็จะปล่อยสินเชื่อ 4-5 แสนบาทเพื่อไปชำระหนี้เดิมที่ลดทอนแล้ว และได้ที่ดินคืน แต่ก็ให้ลูกหนี้นอกระบบมาเป็นหนี้กับแบงก์รัฐแทน” นฤมล ย้ำอีกว่า จากจำนวนผู้มีรายได้น้อยที่มาขึ้นทะเบียนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน มีคนที่ยืนยันว่าเป็นหนี้นอกระบบรวมเม็ดงินราว 6.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีอยู่กว่า 1 ล้านคน ที่มีหนี้นอกระบบ และได้จัดการไปแล้วในระดับหนึ่ง

 

“แต่การทำเงื่อนไขกับลูกหนี้ว่าห้ามกลับไปยืมไปกู้นอกระบบอีก เอาเข้าจริงก็ทำได้ยาก เพราะเราบังคับไม่ได้ เพราะเงินทุนนอกระบบได้ง่าย อยู่บ้านเฉยๆ ก็มีคนเอาเงินมาให้กู้แล้ว อีกอย่างวัฒนธรรมก็นำไปสู่พฤติกรรมที่ต้องไปกู้เงิน ไม่ว่าจะจัดงานบุญงานบวช หรืองานแต่ง ก็ต้องกู้มาจัดงานทั้งนั้น หน้าที่ของรัฐก็ต้องปรับตรงนี้ ทั้งการให้ความรู้ ให้คนรู้จักวางแผนการใช้จ่ายเงิน การทำบัญชีครัวเรือน หรือการให้ประชาชนเข้าถึงเงินทุนของรัฐให้มากและง่ายขึ้น แต่ทั้งหมดต้องใช้เวลา แต่ก็ต้องทำ แม้จะนานก็ตาม” นฤมล ทิ้งท้าย บทความอื่นที่น่าสนใจ “ณพพงศ์ ธีระวร” ย่างก้าวสำคัญของตัวแทน “คนตัวเล็ก” สู่ “พลังประชารัฐ” 

Tag :