ย้อนดู 44 ปี “รัฐสภา” เรื่องราวการเมืองเกิดขึ้นที่นี้

by ThaiQuote, 6 ธันวาคม 2561

เรื่องโดย วรกร  เข็มทองวงศ์ 31 ธ.ค. นี้ เป็นวันสุดท้ายในการใช้สถานที่ “รัฐสภา” เพื่อประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติกับอาคารรัฐสภา ก่อนจะโยกย้ายไปยังอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ในเดือนมิถุนายน 2562  แต่เรื่องราวต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับอาคารรัฐสภาแห่งนี้ จะยังเป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปอีกนาน     เส้นทาง 44 ปีรัฐสภาไทย อาคารรัฐสภาแห่งนี้ นับเป็นแห่งที่ 2 ถัดจากพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ที่ประชุมสภาแห่งแรก ที่ใช้เป็นที่ประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติและสภาผู้แทนราษฏร เป็นใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2517 และใช้เรื่อยมาจนถึงธันวามคม 2561 สำหรับผู้ออกแบบและตกแต่ง คือสถาปนิก พล จุลเสวก  เป็นรูปแบบสไตส์โมเดริ์น เริ่มต้นก่อสร้าง เมื่อ5 พฤศจิกายน 2513 งบประมาณ 51,027,360 บาท     เรื่องราวบันทึกประวัติศาสตร์การเมือง การเมืองไทยนับแต่อดีตจนปัจจุบัน การเริ่มต้นหรือต้นธารเรื่องราวต่างๆ หลายต่อหลายครั้งเริ่มต้นที่ รัฐสภา ภาพความวุ่นวายที่เราๆท่านๆเคยเห็นนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการเมือง แต่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่การประชุมการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งตำนานตั้งแต่อาคารรัฐสภาหลังที่ 1  ในปี 2490 ที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งขณะนั้นเป็นฝ่ายค้าน อภิปรายจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกฯ เป็นเวลา  8 วัน 7 คืน มีความวุ่นวายเกิดขึ้นหลายครั้ง จนในที่สุดจอมพล ป. ต้องลาออก และในปีเดียวกันก็เกิดการรัฐประหาร โดย จอมพลผิน ชุณหะวัณ ขณะที่มียศพลโท เป็นผู้นำ     แต่ช่วงที่เรียกว่าเป็นที่จดจำและบันทึกในความทรงจำ คือความวุ่นวายในสภาช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ในช่วงปี 2448 -2553 เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับผู้เห็นต่างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤตทางการเมือง ภายใต้การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่มีการปิดล้อมรัฐสภาในยุค นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ของพรรคพลังประชาชน และทำให้นายกฯคนถัดมา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่สามารถเข้าทำเนียบรัฐบาลและสภาได้     เช่นกัน ในช่วง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) ก็ได้เข้าล้อมรัฐสภากดดันรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ อีกความวุ่นวายที่เรียกว่า ส.ส.ไทยไปมวยโลก เริ่มตั้งแต่ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ  ส.ว.กรุงเทพฯ ต่อยเข้าหน้าของนายอดุลย์ วันไชยธนวงศ์ ส.ว.แม่ฮ่องสอน ขัดแย้งการอภิปรายสถานการณ์ที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาสเมื่อปี 2547 ถัดมา นายการุณโหสกุล ส.ส.กรุงเทพ พรรคพลังประชาชนขณะนั้น กระโดดถีบนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ แต่พลาด เหตุจากกรณีนายสมเกียรติ ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ     ต่อเนื่องกันที่ นายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎรธานี พรรคประชาธิปัตย์ โยนเก้าอี้ในสภาแสดงความไม่พอใจ  นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯ และ รมว.เกษตรฯ ได้ชี้แจงกรณีแก๊สน้ำตา แต่เป็นการเปิดอภิปรายเรื่องราคาพืชผลตกต่ำ ใช่ว่า จะมีแต่ ส.ว.หรือ ส.ส. ผู้ชายที่กระทบกระทั่งกัน ฟาก ส.ส.หญิง ก็มีเช่นกัน โดย นางสาวรังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ แย่งเก้าอี้ประธานสภาบนบังลังก์ ส.ส.พรรคเพื่อไทยกรูเข้ามา 3 คน คือ นางสาวขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย และนางชมพู จันทาทอง ส.ส.หนองคาย เข้ามาแย่งเก้าอี้ไป โดยมี นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรคและส.ส.พรรครักประเทศไทย ถ่ายคลิปวิดีโออย่างใกล้ชิด