คพ. ตรวจเข้มรถยนต์ควันดำ ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ กทม.

by ThaiQuote, 8 ธันวาคม 2561

  นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ในช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเมษายนของทุกปี สถานการณ์ฝุ่นละอองในบรรยากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในบางวันจะมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงขึ้นจนอยู่ในระดับเกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยแหล่งกำเนิดหลักของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มาจากไอเสียรถยนต์ดีเซล และการเผาในที่โล่ง     นายประลอง  กล่าวว่า ในปี 2561 คพ. ได้ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร และกรุงเทพมหานคร ตั้งด่านตรวจสอบตรวจจับ และห้ามใช้รถยนต์ควันดำ บริเวณริมเส้นทางจราจรครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต มีชุดปฏิบัติงานหลักรวม 21 ชุด ผลการสุ่มตรวจสอบควันดำจากรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560-กันยายน2561 จำนวน 8,237 คัน พบว่ามีรถยนต์ที่มีค่าควันดำเกินค่ามาตรฐาน จำนวน 137 คัน และถูกคำสั่งห้ามใช้ชั่วคราว พร้อมติดสติกเกอร์ “ห้ามใช้ชั่วคราว” ด้านหน้าของตัวรถ ตามพ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยเจ้าของได้นำรถแก้ไขและนำมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและยกเลิกคำสั่งฯ ภายใน 30 วันแล้ว จำนวน 134 คัน คิดเป็นร้อยละ 98 ส่วนที่ไม่นำรถมายกเลิกคำสั่ง อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ติดตามให้มายกเลิกคำสั่ง ภายใน 30 วัน หากเกินกำหนดแล้วไม่มายกเลิกคำสั่ง  และเจ้าหน้าที่ตรวจพบบนท้องถนน แล้วยังมีค่าควันดำเกินมาตรฐาน จะถูกออก “คำสั่งห้ามใช้เด็ดขาด” และถูกดำเนินคดีกรณีฝ่าฝืนคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ มีโทษปรับไม่เกิน 5000 บาท แต่หากแก้ไขแล้ว ค่าควันดำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จะถูกยกเลิกคำสั่งห้ามใช้ชั่วคราว แต่ยังต้องถูกดำเนินคดีกรณีฝ่าฝืนคำสั่งต่อไป     และเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ กทม. ในปี 2562  คพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงบูรณาการร่วมกันตั้งด่านตรวจสอบตรวจจับรถยนต์ควันดำต่อเนื่อง และจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นโดยเพิ่มจุดตรวจสอบในช่วงเกิดสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก และ คพ. ต้องขอความร่วมมือจากเจ้าของรถยนต์ในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมสภาพเครื่องยนต์ อุปกรณ์ลดมลพิษให้อยู่ในสภาพปกติอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยป้องกันและลดมลพิษจากยานพาหนะ ส่งผลให้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กลดลงได้ ทั้งนี้ รถที่ถูกออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ หากนำรถไปปรับปรุงแล้ว สามารถนำรถมาตรวจสอบและยกเลิกคำสั่งได้ตามจุดที่กำหนด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ 1. กรมควบคุมมลพิษ 2. สถานีตำรวจคู่ขนานลอยฟ้า 3. สำนักงานเขต และกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร 4. กองโรงงานช่างกลทั้ง 5 ศูนย์บริการ และ6. ห้องปฏิบัติการตรวจวัดมลพิษจากยานพาหนะ คลอง 6 กรมควบคุมมลพิษ และในพื้นที่ต่างจังหวัด ได้แก่ สำนักงานขนส่งจังหวัด หรือที่สำนักงานขนส่งสาขาทั่วประเทศ นายประลอง กล่าว