กกต. ชี้ พปชร. จัดระดมทุน ขึ้นกับ ประกาศยกเลิกคำสั่ง คสช.

by ThaiQuote, 9 ธันวาคม 2561

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. กล่าวว่า แม้พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะกำหนดเรื่องการคิดค่าใช้จ่าย เรื่องการหาเสียงหลังมีพ.ร ฎ.ให้มีการเลือกตั้งส.ส.แล้วและคาดว่าจะมีพ.ร.ฎ. เลือกตั้งในวันที่ 2 ม.ค.62 แต่ตามมาตรา22พ.ร.ป. กกต.ก็กำหนดให้กกต.ต้องสอดส่อง สืบสวน ไต่สวนหากพบการกระทำที่อาจก่อให้เกิดการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลา ในระหว่างที่มีพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นหลังวันที่ 11 ธ.ค.นี้ที่ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ผู้ที่จะสมัครฯหรือพรรคการเมือง ก็ไม่ควรกระทำการใดๆที่ทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เพราะอาจเป็นเหตุให้มีการร้องเรียนให้ไต่สวนได้ ขณะเดียวกันกฎหมาย ได้ให้กกต. กำหนดและสนับสนุนเกี่ยวกับการหาเสียงซึ่งขณะนี้สำนักงานกกต.ได้ยกร่างระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงไว้ทั้งหมดแล้ว ทั้งในเรื่อง การจัดเวลาหาเสียงออกอากาศทางโทรทัศน์ให้พรรคที่สมัครโดยเท่าเทียมกัน การจัดดีเบต ให้พรรคฯประชันนโยบายทางโทรทัศน์และแพร่ทาง โซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ ทางสำนักงานฯ เชิญพรรคการเมืองประชุม ในวันที่ 19 ธ.ค เพื่อขอรับฟังความคิดเห็น ก่อนจะปรับปรุงร่างระเบียบ และเสนอต่อที่ประชุมกกต.พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ หรือการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับผู้สมัครฯและนโยบายพรรคฯส่งถึงบ้านในแต่ละเขตเลือกตั้ง การจัดแอพพลิเคชั่นฉลาดเลือก ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้สมัคร นโยบายพรรคการเมืองให้ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษา การติดรายละเอียดผู้สมัครฯและพรรคฯ ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งก่อนประชาเข้าไปใช้สิทธิ์ จึงอยากให้ผู้ที่จะสมัครและพรรคการเมืองปฎิบัติตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาเรื่องการถูกร้องเรียนตามมา ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชารัฐจะจัดระดมทุนวันที่19 ธ.ค. ก็ต้องรอดูว่าหลังวันที่ 11ธ.ค.ที่ คสช.ประกาศว่าจะยกเลิกคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้น จะปลดล็อคให้พรรคทำกิจกรรมทางการเมืองตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดได้แค่ไหน หากทำได้ทั้งหมด ทุกพรรคก็สามารถดำเนินการได้ แต่การบริจาคก็ต้องไม่เกินรายละ10 ล้านต่อคนต่อปีตามที่กฎหมายกำหนดด้วย ส่วนเรื่องของการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกกต. ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายรวมถึงพรรคการเมืองด้วย การที่กกต. จะกำหนดว่าบัตรเลือกตั้ง ควรมีลักษณะใด มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมกัน ของพรรคใหญ่ พรรคเล็ก พรรคใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก การรักษาสิทธิ ของคนไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ การป้องกัน การปลอมแปลงบัตร ระยะเวลาการจัดพิมพ์ การขนส่ง ซึ่งตามปฎิทินการทำงานที่คสช.เสนอต่อที่ประชุมร่วมพรรคการเมืองเมื่อ 7 ธ.ค. ถ้าปิดรับสมัคร ในวันที่ 18ม.ค.62 วันที่25 ม.ค. กกต.ประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ และวันที่ 4-16 ก.พ.เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เท่ากับระยะเวลาในการจัดพิมพ์บัตรและส่งบัตรก่อนที่จะถึงห้วงแรกที่คนไทยในต่างประเทศใช้สิทธิเลือกตั้งค่อนข้างกระชั้น จึงไม่อยากให้ทุกฝ่ายมองเรื่องบัตรเลือกตั้งเชิงการเมืองเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามทางสำนักงานจะนำปัจจัยต่างๆรวมทั้งความเห็นทั้งหมดนำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาต่อไป