บัญชีเดียว อุปสรรคของ SMEs ต้องเรียนรู้ก่อนเข้าสู่ระบบ

by ThaiQuote, 10 ธันวาคม 2561

แม้เรื่องดังกล่าว ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่จะรู้กันมานานแล้ว แต่ก็แกล้งหลับหูหลับตาดำเนินธุรกิจกันต่อไป ด้วยเหตุผลคือระบบธุรกิจซึ่งหลายแห่งอาจมีขนาดเล็ก ใช้ระบบครอบครัวในการดำเนินธุรกิจ หากจะต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งบางรายอาจไม่มีความรู้ หรือจะต้องจ้างทำบัญชีก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนที่เกินกำลังอยู่แล้ว สิ่งที่สะท้อนง่ายๆ คือสิ่งกลอันใดที่ต้องเพิ่มต้นทุน และมีค่าใช้จ่าย ก็ต้องหยุดสิ่งนั้นเสีย ขณะเดียวกันปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ กลัวการเสียภาษีในอัตราที่สูง หรืออาจถูกตรวจสอบเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ทำให้เรื่องของ “บัญชีเดียว” จึงถูกละเลยไป คิดว่าเมื่อถึงเวลาแล้วค่อยจัดการแก้ปัญหาทีละเปราะ แต่ต้องขอเตือนไว้ก่อน การทำอย่างนั้นจะยิ่งผูกมัดปมปัญหาให้ยิ่งแน่น เมื่อถึงเวลาจริงมันอาจจะแก้ยากกว่าที่คิด แหล่งข่าวที่ปรึกษาทางการเงินรายหนึ่ง เปิดเผยกับ “Thaiquote” ถึงปัญหาดังกล่าวว่า เมื่อพูดถึงมาตรการ “บัญชีเดียว” ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่จะตกใจ กลัว ไม่กล้าที่จะดำเนินการ แล้วเก็บความกังวลไว้ในใจ ทั้งส่วนที่เป็นนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา “ความจริงแล้วผู้ประกอบการไม่ได้ปฏิเสธการจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อการจัดทำบัญชี หลายรายพร้อมจด แต่อุปสรรคคือไม่มีความรู้ ไม่รู้จักระบบ และ Startup หลายรายต้องเจอระบบปัญหาทางธุรกิจเพราะระบบหลังบ้าน ก็คือระบบบัญชีมีปัญหา ดังนั้นผู้ประกอบการเหล่านี้จะต้องมีความรู้ด้านบัญชีก่อนที่จะจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อการทำระบบบัญชีที่จะต้องมีความต่อเนื่อง เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่การลงบัญชีรายรับรายจ่าย ในหลายรายอาจมีการว่าจ้างสำนักงานบัญชีในการจัดทำบัญชี ในราคาถูก แต่ด้วยความมักง่ายของสำนักงานบัญชี ซึ่งจ้างเด็กปวช.-ปวส.มารับจ้างจดบัญชี อาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ ซึ่งจุดตายของการทำบัญชีเหล่านี้ไม่ใช่การลงบัญชีที่ไม่ถูกต้อง แต่คือการที่ไม่ได้เก็บหลักฐานรายรับรายจ่ายเอาไว้ ซึ่งเมื่อมีการเรียกตรวจสอบก็ไม่สามารถหามายืนยันได้ ดังนั้นหัวใจสำคัญจึงอยู่ที่เอกสาร เอกสารถูกไม่ถูกมันมีผลกระทบที่ทำให้เดือดร้อนอย่างเห็นได้ชัด” แหล่งข่าวนายนี้ ให้ภาพอีกว่า ในบางกรณีที่เป็นนิติบุคคลแล้ว คือเข้าระบบของการจ่ายภาษี มีบางรายเมื่อถูกตรวจสอบย้อนหลัง พบว่าจะต้องเสียภาษีย้อนหลังในอัตราที่สูง ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากไม่ถูกตรวจสอบ ผู้ประกอบการก็จะมองว่าเป็นเรื่องซึ่งห่างไกลจากการทำธุรกิจของตนเอง ดังนั้น ระบบหลังบ้าน เรื่องของบัญชี จึงเป็น “จุดตาย”ของ SMEs “ผมเคยเจอมาหลายกรณี บางรายเคยโดน VAT ย้อนหลังถึง 2 ล้านบาท เกือบทำให้ธุรกิจพัง วันนี้SMEs ในระบบมีถึง 6 แสนราย แต่ที่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชีไม่เกิน 4 แสนราย บัญชีเดียวต้องบอกว่าไม่ใช่ปัญหาของปีหน้าเท่านั้น แต่ธนาคารที่จะปล่อยกู้ต้องดูบัญชีย้อนหลังในปี 59-60 ซึ่งเมื่อไม่ได้ทำบัญชีข้อมูลเหล่านี้จะมาจากไหน” อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ประกอบการซึ่งเป็นรายเล็กจริงๆ ที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 80,000 บาท ไม่จำเป็นต้องกังวล โดยหากเป็นบุคคลธรรมดา และมีการยื่นเสียภาษี ภงด.90 อยู่แล้วและที่มีรายได้สุทธิต่ำกว่า 1.5 แสนบาท และในส่วนบริษัทจำกัดที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 แสนบาทก็ไม่จำเป็นต้องจ่าย ขณะที่ความคิดเห็นที่สำคัญ จาก มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Development Bank) หรือ ธพว. ระบุถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า ธนาคารตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการประกาศมาตรการดังกล่าวแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดของ SMEs คนตัวเล็ก คือปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน การค้าระหว่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ทำให้ SMEs ได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจอื่นๆ ทั้งสภาพคล่องและต้นทุน ดังนั้นผู้ประกอบการเหล่านี้จึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง โดยธนาคารพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีความสามารถทางการแข่งขัน มีภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยดังกล่าวข้างต้น สิ่งที่เห็นได้ชัดเมื่อมีการเข้าสู่ระบบ โดยจำเป็นต้องแก้ใน 3 เรื่องคือ 1.การให้ความรู้ 2.ทัศนคติ ต้องแก้ไขทัศนคติที่คิดว่า เมื่อเข้าสู่ระบบแล้วจะมีปัญหาเรื่องภาษี สุดท้ายคือ 3.การปรับตัวทางธุรกิจ เลือกที่จะเติบโตขึ้นไป หรือย่ำอยู่กับที่ โดยแนวทางของธนาคารคือ 3D คือ Development ความรู้คู่ทุน Digital Banking แพลตฟอร์มทางการเงิน และ Delivery หน่วยบริการเคลื่อนที่ คือ " หน่วยรถม้าเติมทุน" ที่พร้อมจะเบ้าไปให้บริการผู้ประกอบการทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องแสวงหาการตรวจสอบสภาพของธุรกิจตนเอง สำหรับเรื่องของบัญชีเดียวนั้น ผู้ประกอบการจะต้องตระหนักถึง การดำเนินธุรกิจแบบดั่งเดิม คือไม่เข้าระบบ ไม่สามารถที่จะทำได้แล้ว จะต้องมีความรู้คู่ทุนเป็นปัจจัยหลัก โดยขณะนี้กำลังพิจารณาถึงการให้ความรู้ผู้ประกอบการคนตัวเล็กในเรื่องของการจัดทำ “บัญชีเดียว” โดยจะดำเนินการสอนตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน เรียกว่า ตั้งแต่ระดับ “อาชีวะ” ก่อนที่จะสอนความรู้ในระดับ “มหาวิทยาลัย” “ผู้ประกอบการบางรายอาจขาดความรู้ด้านการจัดทำบัญชี ดังนั้นก่อนที่ยื่นกู้สินเชื่อ ธนาคารจะต้องให้ความรู้เรื่องการจัดทำบัญชีก่อนเพื่อลดขั้นตอนความยุ่งยากของการอนุมัติสินเชื่อ ทำให้ง่ายต่อการที่ธนาคารต่างๆจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ขณะเดียวกันการทำบัญชีของธุรกิจนั้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารธุรกิจของตนเองอย่างยั่งยืนได้ รู้ถึงจุดบอด จุดด้อยของธุรกิจตนเอง สร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจนั้นสามารถเดินต่อไปได้” กรรมการผู้จัดการ ธพว.กล่าว อย่างไรก็ตามข้อดีของการเข้าสู่ระบบ เมื่อมี “ความรู้คู่ทุน” จะทำให้ความสามารถทางการดำเนินธุรกิจดีขึ้น ช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ขณะเดียวกันก็จะต้องอาศัยการสนับสนุนจากการรัฐบาลในได้ด้านการสร้างความจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวด้วยเช่นกัน