ลูกจ้างเฮ ! กม.แรงงานฉลุย คุ้มครองแรงงานเพิ่มสิทธิประโยชน์เพียบ

by ThaiQuote, 14 ธันวาคม 2561

เมื่อวานนี้(13ธ.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 179 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ให้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ผ่านการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยสาระสำคัญคือการปรับเพิ่ม อัตราค่าชดเชยให้กับลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป ได้ค่าชดเชยอัตราใหม่เป็น 400 วัน จากเดิม 300 วัน โดยเป็นการปรับเพิ่มเติม สำหรับคนที่ทำงานมาครบ 20 ปี โดยอัตราค่าชดเชยในช่วงอายุงานอื่นๆ ยังคงเดิม ดังนี้ 1.ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน 2. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน 3. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน 4. ลูกจ้างที่มีอายุงาน ครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน 5. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ ยังเพิ่มสิทธิอื่นๆ เช่นสิทธิลาคลอด กำหนดให้ลูกจ้างหญิงที่มีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร 98 วัน จากเดิมมีสิทธิลา 90 วัน โดยมีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างลา 45 วัน และอีก 45 วันไปรับจากกองทุนประกันสังคม สำหรับ 8 วันที่เพิ่มขึ้นมา ในกรณีที่ลูกจ้างลาครบ 98 วัน นายจ้างจะค่าจ้างระหว่างลา หรือไม่ก็แล้วแต่นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกัน ทั้งนี้วันลาเพื่อคลอดดังกล่าว รวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนจะคลอดด้วย ซึ่งปัญหาที่ผ่านมา พบว่าการ ลาเพื่อคลอดบุตร บางฝ่ายตีความว่า ต้องคลอดก่อนจึงจะมีสิทธิลา หรือ ตีความว่า ไม่รวมการลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอด จึงต้องเขียนให้ชัดเจน อีกทั้งหากวันลาคลอด 98 วัน ไปตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักร้อน หรือ พักผ่อนประจำปี ก็ให้นับรวมวันหยุดดังกล่าวในระหว่างลาคลอดด้วย การประชุม สนช.ใช้เวลาพิจารณาในวาระ 2 -3 ใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมง ผ่าน เป็นกฎหมายด้วยเสียง คะแนนเสียง 179 งดออกเสียง 5 องค์ประชุม 184 เสียง นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะรองโฆษกกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาเสร็จว่า สำหรับข้อดีหรือสิทธิประโยชน์จากกฎหมายฉบับใหม่หลายกรณี ซึ่งเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์มากกว่าทุกฉบับที่ผ่านมา อาทิ ลูกจ้างมีสิทธิลา เพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน โดยที่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งตามกฎหมายฉบับเดิมไม่ได้ กรณีที่นายจ้างเปลี่ยนตัวนายจ้างหรือนิติบุคคล ถ้าลูกจ้างไม่ยินยอม ก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยที่นายจ้างจะต้องช่ายค่าชดเชยพิเศษ ให้กับลูกจ้างตามมาตรา 38 ซึ่งตามกฎหมายเดิมนั้น จะเป็นการให้ลูกจ้างไปฟ้องศาลเอง ในส่วนของลูกจ้าง หญิงตั้งครรภ์ สามารถลาคลอดได้ทั้งก่อนและหลัง คลอด รวม 98 วัน จากเดิมที่ลาคลอดได้เพียงอย่างเดียว 90 วัน ซึ่งไม่รวมลาฝากครรภ์ หรือตรวจครรภ์ ไม่สามารถทำได้ ต้องใช้โควตาในการลาเพื่อกิจธุระอันเป็นจำเป็น ส่วนอัตราค่าชดเชย กรณีนายจ้างเลิกจ้างกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้เพิ่มสิทธิเพิ่มขึ้นเป็น 6 อัตรา เดิมอยู่ที่ 5 อัตรา คือ 1.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน ได้ค่าชดเชย 30 วัน 2.ลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน 3.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 3 ปีแต่ไม่เกิน 6 ปี ได้ค่าชดเชย 180 วัน 4.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 6 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปีได้ค่าชดเชย 240 วัน และ 5.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ได้ค่าชดเชย 300 วัน ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่ ได้เพิ่มอัตราที่ 6 คือ หากทำงานต่อเนื่องครบ 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน โดยในกรณี ดังกล่าว ไม่รวมในเหตุที่นายจ้างเลิกจ้าง โดยที่ลูกจ้างมีความผิด หรือในกรณีที่ลูกจ้างลาออกเอง