"พาณิชย์” ผนึกพลัง “JD.COM” ดันสินค้า SME ไทยเจาะตลาดจีน

by ThaiQuote, 18 ธันวาคม 2561

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นพยานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และบริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด และเจดีกรุ๊ป เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับ SME ไทย และส่งเสริมการขายสินค้าไทยในตลาดจีนผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ในความดูแลของบริษัท ระบุว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะช่วยผลักดันและสร้างโอกาสให้กับ SME ของไทยในการขายสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน เพราะเจดีกรุ๊ป เป็นผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซของจีน และเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ jd.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ในรูปแบบค้าปลีก (B2C) ขนาดใหญ่ของจีน มีผู้ใช้งานกว่า 300 ล้านราย     ทั้งนี้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ SME ไทย ในการเพิ่มยอดขายสู่ช่องทางต่างๆ ของเจดีกรุ๊ป การจัดการอบรมเฉพาะทางที่เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน การจับคู่เจรจาธุรกิจให้กับผู้ขายใน thaitrade.com และผู้ซื้อจาก jd.com     สำหรับสินค้าที่ได้รับความนิยมในการซื้อขายผ่านเว็บไซต์ jd.com ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าแฟชั่น ของตกแต่งบ้าน สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าสด โดยกลุ่มสินค้าขายดีเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกทั้งสิ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะผลักดันให้มีการเชื่อมโยงสินค้าจากไทยเข้าไปขายในเว็บไซต์ jd.com ต่อไป     ปัจจุบันการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross-Border eCommerce : CBEC) เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในจีน China E-Commerce Association รายงานว่า ปี 2018 การค้า CBEC ในจีนคิดเป็นมูลค่า 9 ล้านล้านหยวนและในปี 2020 คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 12 ล้านล้านหยวน และมีข้อมูลเพิ่มเติมจาก China Import Consumer Market Research Report พบว่าในปี 2017 การสั่งซื้อสินค้าของชาวจีนผ่าน CBEC มีมูลค่า 56,590 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 120% และคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวแบบก้าวกระโดดแบบนี้ไปอีกหลายปี     โดยช่องทางการค้าแบบ CBEC ได้รับความนิยมต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลจีนได้ยกเว้นภาษีศุลกากรให้กับผู้บริโภคสำหรับการสั่งซื้อสินค้าที่ผ่านทาง CBEC Platform สำหรับการสั่งซื้อต่อครั้งไม่เกิน 5,000 หยวน และยอดสั่งซื้อรวมทั้งปีไม่เกิน 26,000 หยวนหรือประมาณ 123,000 บาท (De Minimis Value)  รวมทั้งไม่เรียกเก็บภาษี VAT และภาษีสรรพาสามิต 70% ของอัตราปกติ     ทำให้ผู้ขายมีต้นทุนราคาขายต่ำกว่าช่องทางอื่น 20-50% ประกอบกับการเพิ่มรายการสินค้าที่อยู่ใน CBEC เป็น 1,300 รายการ และการลดกฎระเบียบขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออก และวางระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจน ทำให้ผู้ซื้อได้รับสินค้าภายใน 3-7 วัน แทนการค้าออนไลน์ปกติที่จะใช้เวลานานถึง 15 วัน จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะขายสินค้าข้ามพรมแดนเข้าไปยังตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น       ข่าวที่เกี่ยวข้อง “อาลีบาบา” เตรียมใช้ระบบออนไลน์ซื้อขายยางพาราไทย