“เข้ามามีแต่ดี” นักวิชาการสังเคราะห์เปิดไฟเขียว “ฝรั่ง” ดูไทยเลือกตั้ง

by ThaiQuote, 21 ธันวาคม 2561

เรื่องร้อนที่สุดในรอบสัปดาห์ หนีไม่พ้นกับประเด็น "ต่างชาติสังเกตการเลือกตั้งไทย" เหมาะสมดีหรือไม่ เพราะความดุดันของ "ดอน ปรมัตถ์วินัย" รมว.ต่างประเทศ ประกาศก้องเอาไว้ด้วยคำว่า "ศักดิ์ศรีของชาติ" ที่ไม่จำเป็นต้องให้ฝรั่งต่างแดนเข้ามาดูแลการเลือกตั้งของบ้านเราเอง "เราดูแลตัวเองได้ ให้ต่างชาติให้ฝรั่งเข้ามา มันก็สะท้อนว่าบ้านเมืองเรามีปัญหาถึงต้องให้เขามาดูมาจัดการ แต่ผมยืนยันว่ามองไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่ต้องให้เข้ามา มันไม่ได้จำเป็น" วลีของดอน สอดรับกับสิ่งที่ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ที่ได้ถามกลับไปยังกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยว่า "บ้านเราไม่มีกกต.คอยจัดการหรือไง ถึงต้องให้ฝรั่งเข้ามาดูแล" แต่เหตุผลของบรรดาพรรคการเมือง สะท้อนไปในทิทศทางเดียวกันคือ "เพื่อความโปร่งใส" ก็ควรให้ฝรั่งต่างชาติมาดูกันหน่อย มันจะได้เป็นไปได้ความยุติธรรมกับการคืนสู่ประชาธิปไตยอีกครั้งของประเทศ และหากไม่มีอะไรที่ "ตุกติก" รัฐบาลคสช.จะไปกลัวทำไมกับการให้ต่างชาติเข้ามาดูมาสังเกตการณ์ หรือว่ามีอะไรที่ซุกไว้ใต้พรม ถึงปกปิดกันนักหนา   [caption id="attachment_59460" align="aligncenter" width="640"] อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ[/caption] แต่เสียงจากนักวิชาการหลายแขนง ทั้งด้านรัฐศาสตร์ และด้านสิทธิมนุษยชน มองในมุมนี้ไว้อย่างน่าสนใจ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉายภาพประเด็นนี้ว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือผิดแปลกอะไรกับการที่ต่างชาติจะเข้ามาสัเกตการณ์เลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งของประเทศไทยที่ผ่านมาทุกครั้ง องค์กรอิสระต่างชาติหลายองค์กร ก็เข้ามาสังเกตการณ์ทุกครั้งจนเป็นเรื่องปกติ และไม่จำเป็นจะต้องขออนุญาตใครด้วย อังคณา ขยายความว่า อีกทั้งทุกครั้งที่ต่างชาติเข้ามาก็ปฏิบัติตามกฎหมายการเลือกตั้งของไทย ทั้งต้องไม่สัมภาษณ์ผู้ที่เพิ่งลงคะแนนเสียงไป หรือรายงานอะไรที่ผิดกฎหมาย การที่ในบ้านเมืองเรากำลังถกเถียงกันถึงประเด็นนี้ก็อาจจะเป็นการหลงทาง เพราะตามจริงแล้วองค์กรต่างๆ เดินทางเข้ามาอย่างปกติ และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง รวมถึงอาสาสมัครในประเทศไทยที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ก็ออกไปเก็บข้อมูลรายงานส่งกลับมายังองค์กรต่างชาติเหล่านี้เป็นปกติด้วย "มองว่าหากให้เข้ามาสังเกตการณ์ก็ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะเราไม่ได้มีอะไรที่จะต้องปิดบัง หรือซ่อนเร้นปัญหาอะไรเอาไว้ และทุกครั้งที่เกิดการเลือกตั้งในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือเมียนมาร์ก็ตาม องค์กรต่างชาติก็เข้ามาเป็นปกติอยู่แล้ว" กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สะท้อนความเห็น อยาไรก็ตาม กับสิ่งที่รัฐบาลพยายามไม่ให้ต่างชาติเข้ามาให้ได้นั้น อังคณามองว่า ยิ่งจะทำให้เสียหายมากเข้าไปอีก เพราะการกีดกันไม่ให้เดินทางไปไหนมาไหน หรือการไม่ยอมให้เข้าประเทศ จะเป็นการกระทบกับสิทธิขั้นพื้นฐาน และย่อมทำให้ถูกมองได้ว่า การเลือกตั้งอาจจะมีวาระซ่อนเร้น หรือรัฐบาลต้องการปิดบังอะไรบางอย่าง   [caption id="attachment_59461" align="aligncenter" width="740"] เดชรัตน์ สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[/caption] ขณะที่อีกด้านความเห็นของ เดชรัตน์ สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า การไฟเขียวให้ต่างชาติเข้ามาดูแลเลือกตั้ง ก็มีแต่ผลดี อีกทั้งการที่ต่างชาติเข้ามาดูเลือกตั้งก็เป็นเรื่องปกติในสังคมโลกอยู่แล้ว และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในแง่การให้เป็น “สักขีพยาน” ต่อสายตาโลกว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์ และไร้วาระซ่อนเร้น เดชรัตน์ สะท้อนข้อดีอีกว่า ทีผ่านมาแม้ประเทศไทยจะเกิดรัฐประหารยึดอำนาจอยู่บ่อยครั้ง แต่กับการเลือกตั้งแล้วก็มีมาตลอดอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี และการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อกว่า 4 ปีที่ผ่านมา โลกก็ขึ้นทะเบียนว่าเรามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างผิดปกติ ซึ่งมันกระทบกับความสัมพันธ์ทางการทูตต่างๆ และเมื่อเรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมประชาธิปไตยอีกครั้ง การประกาศและเชิญให้โลกเข้ามาดูและให้ความสนใจ ก็น่าจะลบภาพความไม่น่าเชื่อถือออกไปได้ “ส่วนใหญ่องค์กรต่างชาติก็จะมีไกด์ไลน์ในการเข้ามาดู มาสังเกตการณ์อยู่ 3 เรื่อง คือ 1.สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างถูกต้องหรือไม่ 2.การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและยุติธรรดีหรือไม่ และ 3.หลังการเลือกตั้งแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เกิดขึ้นด้วยความเรียบแล้วและยุติธรรมดีหรือไม่ นีคือองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนที่ต่างชาติจะมอง และมันจะยังผลไปถึงความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคต” เดชรัตน์ อธิบาย เดชรัตน์  ทิ้งท้ายอีกว่า องค์ประกอบทั้ง 3 เรื่องนี้จะเป็นตัวชี้วัดที่ทำให้ประชาคมโลก เกิดความเชื่อมั่นในประเทศไทยโดยตรง หากการเข้ามาสังเกตการณ์นั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง และผลทางอ้อมคือดัชนีชี้วัดต่างๆ จะส่งผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในบ้านเราด้วย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลคสช.ปฏิเสธการจัดอันดับที่ไม่ตรงใจมาโดยตลอด จึงส่งผลแง่ลบอย่างมากต่อสายตาโลก ดังนั้น การให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์พร้อมไปกับการจัดการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส มันจะช่วยลบภาพแง่ลบของต่างชาติให้หมดไปได้   ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ข่าว  ThaiPublica  และโพสต์ทูเดย์