หยุดตายบนถนน ฝั่งการเมืองต้อง “แอคชั่น”

by ThaiQuote, 25 ธันวาคม 2561

จากข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก (WHO)สะท้อนข้อมูลทีชัดเจนว่าใน 1 ปี จะมีคนไทยต้องเสียชีวิตบนท้องถนนมากกว่า  20,000 คน และนับเป็นสถิติที่สูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกใบนี้ และผลความเสียหายมันไม่ใช่แค่เพียงเรื่องความเสียใจกับญาติ ครอบครัว ที่ต้องสูญเสียสมาชิกไป หรือในแง่เศรษฐกิจทั้งในระดับจุลภาค และมหภาคเท่านั้น ผลของการตายมันยังกระทบไปถึงระบบบริการสุขภาพของบ้านเราในหลากหลายมิติ ทั้งค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา เป็นต้น วงระดมข้อคิดเห็นในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุย โดยเฉพาะในแง่ของ "การเมือง" ที่น่าจะมีบทบาทในการร่วมกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เพื่อสังเคราะห์ข้อมูลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานด้านบริการสาธารณสุข กับฝั่งการเมือง ให้สามารถถอดรหัสและลบภาพความตายบนท้องถนนออกไป   [caption id="attachment_59920" align="aligncenter" width="1024"] สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ จากพรรคอนาคตใหม่[/caption] สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ จากพรรคอนาคตใหม่ ที่ร่วมวงเสวนาครั้งนี้ด้วย ตั้งข้อสังเกตชวนคิดว่า หากรัฐบาลคิดจะสนใจแก้ไขปัญหา งบประมาณที่จะลงมากับเรื่องนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรหากจะได้ผลลัพธ์ด้วยการรักษาชีวิตของคนไทยเอาไว้ไม่ให้ต้องไปจบบนท้องถนน แต่ในความาเป็นจริง ก็ต้องตั้งคำถามว่ารัฐบาลใช้งบประมาณที่มีอยู่นั้นคุ้มค่าเพียงพอต่อการรักษาชีวิตคนไทยหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มเงินจัดซื้อเรือดำน้ำ หรือแม้แต่การสร้างถนนมอเตอร์เวย์ใหม่ (บางปะอิน-นครราชสีมา) ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องทบทวนการใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์อย่างสูงสุด     อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความประมาท และมักง่าย เผลอเลอของผู้ขับขี่บนท้องถนน มันเป็นชนวนแห่งต้นเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น กระนั้นก็ตาม แต่หากไม่มีงบประมาณจริงในการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ตัวแทนจากอนาคตใหม่ สะท้อนและเห็นด้วยกับแนวคิด "การยกเลิกเงินสินบนนำจับ" และให้นำเงินส่วนที่ยกเลิก และเงินค่าปรับของการกระทำผิดกฎหมายจราจร มารวมเข้าเป็นกองทุน เพื่อสนับสนุนมาตรการสร้างความปลอดภัยทางถนน และอีกหนึ่งมาตรการที่ควรนำมาใช้ คือ ตัดคะแนนใบขับขี่” แทนมาตรการเพิ่มอัตราค่าปรับ เพราะการเพิ่มค่าปรับจะยิ่งส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม ถ้าเพิ่มเงินค่าปรับ คนจนที่ไม่มีเงินอาจต้องติดคุกแทน ขณะที่คนรวยสามารถจ่ายค่าปรับได้โดยไม่ทุกข์ร้อน และไม่เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม” สุรเชษฐ์ แสดงข้อคิดเห็น   [caption id="attachment_59926" align="aligncenter" width="300"] นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์[/caption] ฟากฝั่งการเมืองอีกคนจากประชาธิปัตย์ อย่าง นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ เสนอข้อคิดเห็นไว้กับวงประชุมว่า การจะลดอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้น ต้องมุ่งไปที่ต้นเหตุ คือวินัย และพฤติกรรมการขับขี่ รวมถึงการใช้รถใช้ถนนของคนไทย หากจะแก้ก็ต้องเอาข้อมูลวิชาการด้านนี้มาสังเคราะห์ เพื่อถอดออกมาเป็นแนวทางการทำงานให้เป็นรูปธรรม "3 ตัวแปรที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางท้องถนน คือ 1.ถนนหนทาง 2.ผู้ใช้ถนน และ 3.ผู้คุมกฎ หากจะหยุดคนตายบนท้องถนนก็ต้องพุ่งเป้ามาแก้ที่ 3 ปัจจัยนี้เป็นหลัก" นพ.คณวัฒน์ เสนอ แต่ขณะเดียวกัน นพ.คณวัฒน์ ยังเห็นว่า จะต้องเพิ่มบทบาทของ "ชุมชนท้องถิ่น" ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้มาเป็นอีกแกนหลักในการแก้ไขปัญหา เพราะชุมชนท้องถิ่นเป็นหนึ่งที่สัมผัสกับปัญหาโดยตรง การกระจายอำนาจและเพิ่มบทบาทให้กับท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ขณะที่ตัวแทนพรรคเพื่อไทยอย่าง นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ กล่าวว่า ประการแรกทางพรรคจะมุ่งเน้นเรื่องการเสริมสร้างวินัยจราจรให้กับคนทุกเพศทุกวัย เพื่อให้เกิดจิตสำนึกและความตระหนัก ถัดมาจะมุ่งแก้ปัญหาด้านโครงสร้างวิศวกรรมทางถนน โดยเฉพาะจุดเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มงวดมากขึ้น เช่น การออกใบขับขี่ การตรวจความพร้อมของร่างกาย การฝึกอบรมสร้างความเข้าใจในกฎกติกาการใช้รถใช้ถนน เราจะรณรงค์ตลอดปี ไม่เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนทุกเพศวัย รวมถึงพิจารณาจัดงบประมาณที่สอดคล้องเหมาะสมกับการแก้ปัญหา” ตัวแทนเพื่อไทย เสนอข้อคิดเห็น   [caption id="attachment_59917" align="aligncenter" width="420"] นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน[/caption] อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับไปมองผลการวิจัยของ WHO นอกไปจากประเทศไทยจะติดอันดับหนึ่งของโลกที่ตายมากสุดในท้องถนนแล้ว ข้อมูลอีกด้านจาก นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ที่รายงานว่า อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า เพราะติดอันดับหนึ่งของสาเหตุการตายบนท้องถนนในโลกนี้ด้วยเช่นกัน ขณะที่ฟากฝั่งการเมืองจะมีส่วนร่วมได้อย่างไรนั้น นพ.ธนะพงศ์ ได้หยิบยกผลสำรวจจากซูเปอร์โพล (Super Poll) เมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้ โดยผลสำรวจเกี่ยวกับสิ่งที่คนไทยต้องการจากพรรคการเมือง ก็พบว่า อยากให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายด้านการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดเป็นอันดับ 3 จะเป็นรองก็เพียงนโยบายเศรษฐกิจ/ปากท้อง และด้านการศึกษาเท่านั้น และอีก 90% ของคนไทยอยากเห็นบรรดาพรรคการเมืองดีเบตเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึง 77.3% เห็นตรงกันว่าเรื่องนโยบายอุบัติเหตุทางถนนจะเป็นอีกทางเลือกในการตัดสินใจให้คะแนนเลือกตั้ง แต่อีกหนึ่งประเด็นที่ตัวแทนจากประชาธิปัตย์ได้สะท้อนเอาไว้ว่า น่าจะต้องเพิ่มบทบาทของชุมชนท้องถิ่นให้มากขึ้น เพราะสัมผัสกับปัญหาอุบัติเหตุทางท้องถนนโดยตรง ข้อเสนอที่ว่าน่าจะถูกต้อง เพราะดูได้จากผลสำเร็จสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อุดรธานี ที่ระดมความตั้งใจจริงในจังหวัดเพื่อช่วยกันยับยั้งความตายบนท้องถนนให้เป็นจริง เจนจิรัสตรา วงศ์ประทุม พยาบาลวิชาชีพ สสจ.อุดรธานี เล่าจากประสบการณ์ตรงว่า หากทุกฝ่ายมีความตั้งใจจริง มาตรการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนย่อมสามารถทำได้และเห็นผลจริง โดยยกตัวอย่าง จ.อุดรธานี ว่าเป็นโมเดลหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการจัดการปัญหา โดยความร่วมมืออย่างบูรณการทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ จนถึงระดับตำบล ภายใต้การทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) แต่จะบรรลุเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้นหากได้รับการสนับสนุนจากกลไกการเมืองในการจัดงบประมาณที่ทั่วถึงและเพียงพอ   [caption id="attachment_59923" align="aligncenter" width="350"] นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ[/caption] ท้ายสุดแล้ว นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ระบุว่า ทางออกของการแก้ปัญหานี้อาจเริ่มต้นได้ง่ายๆ เพียงแค่ รณรงค์ให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์สวมหมวกกันน็อค ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้จาก 20,000 ราย เหลือเพียง 10,000 รายต่อปี     ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ข่าว  มติชน