“ผ้าไทยอโยธยา” สวย..จนลุงตู่ต้องควักตังค์ซื้อ

by ThaiQuote, 28 ธันวาคม 2561

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.61 ก่อนการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับฟังรายงานการดำเนินงานโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อจำหน่ายบนเครื่องบิน (OTOP on Board) จากอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งในวันนั้นท่านนายกฯ ได้เยี่ยมชมบูธผลิตภัณฑ์ OTOP on Board ที่นำมาจัดแสดง และได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าถุงลายเทพสุวรรณราคาประมาณ 4,000 บาท และเสื้อผ้าฝ้ายอีกหนึ่งตัวในราคา 4,500 บาท โดยผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ท่านนายกฯ ได้ควักกระเป๋าช้อปไปในวันนั้น เป็นที่ฮือฮาและน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเสื้อลายไทยที่ได้ลองสวมใส่และถูกใจจนตัดสินใจซื้อ คือเสื้อ “เสนากุฏ” ทำจากผ้าฝ้ายลายไทยโบราณ แบรนด์ “ผ้าไทยอโยธยา” ของบริษัท โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ ซึ่งในวันนี้ ThaiQuote ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ หรืออุ๊ กรุงสยาม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ อ. มหาราช จ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะมาให้รายละเอียดของผ้าไทยลายโบราณของแบรนด์ผ้าไทยอโยธยาแบบเจาะลึกให้ได้รับรู้ โดย คุณวัชรพงศ์ ได้เปิดเผยว่า “ผ้าไทยอโยธยา” คือ ผ้าไทยลายโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา เรียกว่า “ผ้าลายอย่าง” มีที่มาจากการที่ส่งลวดลายของไทยเผื่อไปผลิตผ้าที่อินเดีย ช่างจากอินเดียก็ทำตามแบบตัวอย่างที่ส่งไปและนำกลับมา จึงเรียกกันสั้นๆ ว่าผ้าลายอย่าง ถือเป็นเอกลักษณ์แท้ๆ จากอยุธยา ถือว่าเป็นผ้าชั้นสูงที่มีค่า พระมหากษัตริย์พระราชทานให้ขุนนางสูงศักดิ์ หรือส่งไปเป็นของกำนัลเมื่อมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ซึ่ง “ผ้าลายอย่าง” ได้ศูนย์หายไปในช่วงหนึ่งในสมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 โดยมีการสืบทอดมายังสมัยรัตนโกสินทร์แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมเหมือนในสมัยอยุธยาที่มีความรุ่งเรือง จนปัจจุบันได้มีการรื้อฟื้นกลับขึ้นมา ส่วนหนึ่งมาจากกระแสที่คนไทยหันมาใส่ชุดไทย ซึ่งทำให้ขณะนี้กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นที่นิยมจากชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ขึ้นเครื่อง ที่มีการจำหน่ายบนเครื่องบิน โดยมีการนำมาออกแบบป็นเสื้อ กางกาง ผ้าถุงผ้านุ่ง ผ้าโจงกระเบน กระเป๋า ย่าม ฯลฯ โดยเทคนิคในการเพิ่มมูลค่าก็คือ ใช้ลายไทยที่มีอยู่ นำมาออกแบบให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล ส่วนสินค้าเด่นซึ่งเป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก คือเสื้อ “เสนากุฏ” แบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ซื้อไปนั้น  คุณวัชรพงศ์ให้รายละเอียดว่า เป็นเสื้อทหารโบราณของไทย ที่มีปรากฏมาแต่สมัยอยุธยา-สมัยรัตนโกสินทร์ โดยราชสำนักสยามส่งลายไปผลิตยังประเทศอินเดีย มีวิธีการผลิตด้วยวิธีการพิมพ์และเขียนลาย เหมือนผ้าลายอย่างทุกประการ จะออกแบบเป็นหน้าสิงห์ขบ ด้านหน้าด้านหลังและแขนทั้งสอง นิยมออกแบบลายเป็น ลายประแจจีน, ลายแก้วชิงดวง, ลายเกราะเพชร มีรูปแบบลวดลายและการจัดวางลายแบบ เสื้อเกราะโลหะและเสื้อเกราะหนังอย่างจีน สิงห์ขบอย่างจีนครั้นมาถึงมือช่างออกแบบของราชสำนักสยาม ก็สอดแทรกลวดลายไทยเข้าไปผสานกับลายจีนอย่างเหมาะเจาะทั้งรูปแบบเส้นสายจิตรกรรม การใช้สี หน้าสิงห์ก็ถูกออกแบบปรับเป็นอย่างของไทย ซึ่งแตกต่างจากจีนต้นฉบับที่เรารับมาอย่างเห็นได้ชัด “เสนากุฏคือเสื้อของนักรบ แม่ทัพทหารในสมัยอยุธยา มีลักษณะเป็นเสื้อเกราะ ใช้ลวดลายไทยโบราณที่นำมาประยุกต์ใหม่ สามารถใส่เป็นเสื้อคลุมที่ดูดี ใช้ออกงานได้ทุกโอกาส” คุณวัชรพงศ์กล่าว สุดท้าย คุณวัชรพงศ์ฝากคำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการนำของดีที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า โดยกล่าวว่า “สิ่งที่สำคัญคือต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนในสิ่งนั้น แล้วนำมาประยุกต์ต่อยอดโดยไม่สูญเสียเอกลักษณ์เดิม มองถึงประโยชน์และการใช้งาน ตลอดจนมีการสร้างแบรนด์สินค้ามา ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ต้องมีความสัมพันธ์กัน”   ข่าวที่เกี่ยวข้อง “บิ๊กตู่” เยี่ยมชมบูธผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อจำหน่ายบนเครื่องบิน