วิธีปฐมพยาบาล แมลงสัตว์กัดต่อยช่วงน้ำท่วม พายุเข้า

by ThaiQuote, 6 มกราคม 2562

ตะขาบ ตะขาบเป็นสัตว์มีพิษที่อาศัยอยู่ในที่ชื้นแฉะ และอาศัยอยู่ในหลายแหล่งพื้นที่ เช่น ใต้เปลือกไม้ ขุดรูในดิน ฯลฯ เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นจนท่วมแหล่งที่อยู่อาศัย ตะขาบอาจจะหนีน้ำมายังที่พักอาศัยของคนได้ ดังนั้นตะขาบจึงเป็นสัตว์มีพิษที่พบได้บ่อยเมื่อเวลาน้ำท่วม และตะขาบจะกัดคนโดยใช้เขี้ยวคู่หน้าและฉีดน้ำพิษเข้าไปในแผลที่กัด โดยปกติพิษจะไม่รุนแรงถึงแก่ชีวิต ความรุนแรงขึ้นอยู่กับขนาดของตะขาบที่กัด อาการส่วนใหญ่ ได้แก่ อาการปวด คัน บวม แดงร้อน ในบริเวณที่ถูกกัด อาจมีไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย และมักมีอาการดีขึ้นเองภายใน 24 ชั่วโมง วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อตะขาบกัด
  1. ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด
  2. สามารถประคบน้ำอุ่นครั้งละประมาณ 10 นาทีเพื่อลดอาการปวด
  3. หลีกเลี่ยงการเกา แกะ บริเวณที่ถูกกัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อน
  4. ถ้ามีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวดได้
  5. ควรไปพบแพทย์หากสังเกตเห็นอาการใดๆ ที่แย่ลงหรือเริ่มรู้สึกว่าผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการติดเชื้อ ได้แก่ มีรอยแดง การบวม หรืออาการเจ็บปวดเพิ่มขึ้น มีแผลพุพองหรือน้ำเหลืองบนบริเวณที่เกิดแผล
  6. ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงเช่น บวมบริเวณใบหน้า หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หน้ามืดเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ช็อคหมดสติ รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
   

แมงป่อง

แมงป่องเป็นสัตว์มีพิษที่ชอบอาศัยอยู่ในที่มืดและชื้น เช่น ใต้ใบไม้ ใต้ก้อนหิน หรือขุดรูอยู่ แมงป่องเป็นสัตว์มีพิษที่มีขา 4 คู่ ขาคู่หน้ามีลักษณะเป็นกล้ามใหญ่ ส่วนหางเป็นปล้อง และปล้องสุดท้ายมีต่อมพิษร้ายและปลายปล้องจะมีอวัยวะที่ใช้ต่อย อาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง เช่น อาการปวด บวม แดง ร้อน  ในบริเวณที่ถูกต่อย โดยมีอาการมากในวันแรกและมักหายได้เอง ส่วนรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก

วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อแมงป่องต่อย

  1. ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด
  2. สามารถประคบเย็นครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวมเฉพาะที่
  3. ถ้ามีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวด
หากสังเกตเห็นอาการใดๆ ที่แย่ลง หรือในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด    แมลงมีพิษต่างๆ แมลงหลายชนิดที่มีเหล็กใน เช่น ผึ้ง ต่อ แตน เป็นต้น เมื่อต่อยแล้วมักจะทิ้งเหล็กในไว้ ภายในเหล็กจะมีพิษที่มีฤทธิ์เป็นกรด บริเวณที่ถูกต่อยจะบวมแดง คัน และปวด อาการปวดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบริเวณที่ต่อยและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมลงกัดต่อย

  1. ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด ถ้ามีเหล็กในให้ดึงออกทันทีเพื่อลดปริมาณพิษเข้าไปในร่างกายมากขึ้น(ปกติพิษจะถูกฉีดจนหมดในเวลาอันรวดเร็ว)
  2. ใช้เล็บมือหรือบัตรลักษณะแข็งค่อยๆ ขูดเอาเหล็กในออกมา หลีกเลี่ยงการใช้แหนบดึงเหล็กในออก เนื่องจากอาจทำให้พิษหลั่งออกมามากขึ้น
  3. สามารถประคบเย็นครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวมเฉพาะที่
  4. หลีกเลี่ยงการเกา แกะบริเวณที่ถูกกัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อน
  5. สามารถรับประทานยาต้านฮิสตามีน ทายากลุ่มยาต้านฮิสตามีน และยาทากลุ่มเสตียรอยด์ เพื่อลดอาการคัน ปวดแสบร้อน
  6. ถ้ามีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวดได้
  7. ควรไปพบแพทย์หากสังเกตเห็นอาการใดๆ ที่แย่ลงหรือเริ่มรู้สึกว่าผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการติดเชื้อ ได้แก่ มีรอยแดง การบวม หรืออาการเจ็บปวดเพิ่มขึ้น มีแผลพุพองหรือน้ำเหลืองบนบริเวณที่เกิดแผล
  8. ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง เช่น บวมบริเวณใบหน้า หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หน้ามืดเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ช็อคหมดสติ รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
  9. สำหรับผู้ป่วยที่มีโอกาสสัมผัสแมลงที่แพ้บ่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรได้รับยา epinephrine แบบพกติดตัว เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินและเรียนรู้วิธีใช้ได้อย่างถูกต้อง
  ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์