เปิดมุมมอง ‘นัฏฐิกา โล่ห์วีระ’ จากนักข่าวสู่ว่าที่นักการเมือง

by ThaiQuote, 8 มกราคม 2562

เรียกว่า น่าสนใจ ตั้งแต่ก่อนลงสนาม เมื่อนักข่าวที่เชี่ยวชาญการเมือง เข้าสู่สนามเลือกตั้งด้วยตัวเอง!   น.ส.นัฏฐิกา โล่ห์วีระ หรือ นัตตี้  ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เขต 1 จ.ชัยภูมิ ดีกรีบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  คือนักข่าวสาวที่พูดถึง เริ่มต้นการสัมภาษณ์ได้ยิงคำถามทันทีว่าจุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้นักข่าวสาวคนหนึ่ง สนใจที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งจังหวัดบ้านเกิด เมื่อถามเจ้าตัว ได้รับคำตอบว่า การทำงานการเมือง คืองานอาสา เป็นงานรับใช้ประชาชน ส่วนตัวมีความสนใจงานทางการเมืองอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก จนถึงวัยเรียนและก้าวเข้าสู่การทำงานเป็นผู้สื่อข่าว พอมีความสนใจ และประจวบกับโอกาสที่ได้รับเพื่อที่เราจะสามารถทำงานเพื่อสังคมได้ จึงได้ตัดสินใจทำงานการเมือง จากการเป็นผู้สื่อข่าวและมาทำงานการเมือง ทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อมวลชน เวลาเราไปรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน เราสามารถสะท้อนข้อมูลเหล่านั้นให้กับสื่อมวลชนได้ เพื่อให้ความทุกข์หรือปัญหาของชาวบ้านมีเสียงที่ดังขึ้น และทำให้คนอื่นๆรับรู้ว่า พื้นที่ตรงนี้มีปัญหา และปัญหาของเราอาจจะไปตรงหรือเหมือนกับปัญหาของคนอื่นก็ได้ ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ  และถ้าได้รับโอกาสเข้าไปเป็นผู้แทนฯ ก็จะสามารถทำงานร่วมกับผู้แทนฯจังหวัดต่างๆ ที่มีแนวทางปัญหาในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกันได้ และเมื่อเรามาทำงานร่วมกัน เราจะได้ช่วยกันหาคำตอบและทางออกให้กับปัญหาให้ได้รับการแก้ไข’ เมื่อถามว่าจากประสบการณ์การทำข่าว ได้เห็นอะไรที่ ‘นักการเมือง’ ควรทำและไม่ควรทำบ้าง  น.ส.นัฏฐิกา  คิดชั่วครู่ก่อนจะตอบว่า สิ่งที่นักการเมืองไม่ควรจะทำคือ ใช้สื่อฯเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชน และฝั่งสื่อฯก็ต้องทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนตามจรรยาบรรณ ไม่ควรที่จะรับใช้นักการเมือง ‘การใช้ประโยชน์จากสื่อฯ ไม่ใช่การใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์ของตัวเอง ถ้าทุกคนรู้หน้าที่ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับสื่อฯ ที่รับใช้นักการเมือง  ก็จะหายไป’นัฏฐิกา บอก ด้วยความเป็นศิษย์ลูกแม่โดม พ่อปรีดี นักการเมืองสาวหน้าใหม่ไฟแรงคนนี้ นัตตี้ ได้พูดคุยกับเราต่อไปว่า การเรียนรัฐศาสตร์มีประโยชน์ เป็นการปลูกฝังระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย คนที่ได้เรียนรัฐศาสตร์หรือสาขาทางสังคมศาสตร์ จะรู้มิติในเรื่องของการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ยิ่งทำให้เรามองสังคมเป็นภาพรวม ‘การที่จะเป็นผู้แทนฯ เป็นการแก้ไขปัญหาประเทศในภาพรวม เราต้องมองให้ออกว่า ระบบเศรษฐกิจ สัมพันธ์ไปกับระบอบการเมืองการปกครอง สัมพันธ์กับสังคม’ ขณะที่ถามถึงว่าที่ผู้สมัครฯ ที่จะลงแข่งขันในสนามเลือกตั้ง เขต 1 ชัยภูมิ นัตตี้ บอกว่า มีที่เป็นผู้ใหญ่ของจังหวัด ได้แก่ นพ.โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะลงในนามพรรคภูมิใจไทย และนพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ ที่ย้ายจากพรรคเพื่อไทยลงสนามสวมเสื้อภูมิใจไทย และมีว่าที่ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่อีกหนึ่งท่าน ส่วนตัวก็อยากที่จะเป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ จากที่สอบถามข้อมูล จะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่อยู่ 2 แบบ คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวทางการเมืองแล้วกับกลุ่มที่ยังไม่มีความตื่นตัว บางคนยังไม่รู้ว่าผู้แทนฯคืออะไรไปเลือกทำไม จากที่พูดคุยกับผู้ใช้สิทธิ์ครั้งแรก เขาไม่รู้จะไปเลือกใคร เพราะเขาไม่รู้จักใคร อาจจะเพราะช่วงวัยที่แตกต่าง จึงมองว่าตรงนี้น่าจะเป็นโอกาสที่จะได้คะแนนเสียงจากน้องๆ ที่จะสร้างความตื่นตัวทางการเมืองให้กับกลุ่มเยาวชนเหล่านี้’   สำหรับความตื่นเต้นหรือกังวลนั้น นัฏฐิกา บอกว่า ตนไม่มี เพราะว่าตัวเองมีข้อดีอยู่ คือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ ไม่มีประวัติด่างพร่อย เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แล้วกระแสความต้องการคนรุ่นใหม่ เป็นกระแสที่มีขึ้นมาโดยไม่ใช่การปลุกกระแส แต่เป็นสิ่งที่สังคมต้องการ อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง และอยากให้มีคนรุ่นใหม่ๆเข้ามาในการเมือง จุดเด่นความเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นสิ่งที่เด่นที่สุดและคนช่วงวัยอื่นไม่สามารถมาทดแทนได้ เราจึงมีความมั่นใจ และอีกอย่างคนรุ่นใหม่เขาไม่ได้จำกัดแค่ช่วงวัยของเขา แต่ยังจะเป็นสะพาน เป็นสะพานเชื่อมกับคนวัยต่างๆ ให้มาอยู่ตรงกลางด้วยกันหาทางออกด้วยกัน เพราะหลายครั้งกลุ่มวัยหนึ่งมองการแก้ไขปัญหาอีกแบบ อีกช่วงวัยมองอีกอย่าง จึงช่วยกันคิดช่วยกันทำ เมื่อคนหลากหลายแบบ หลากหลายวัยร่วมกัน จึงจะเจอทางออก’ สำหรับแนวทางนโยบายที่  ได้คิดเพื่อชัยภูมินั้น เธอบอกว่า อยากให้มีหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้น ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เพราะถ้าเรายึดหลักการประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ทั้งหลักการเรื่องความเสมอภาค สิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งการมีส่วนรวมของประชาชน และการตรวจสอบที่เกิดจากภาคประชาชน เมื่อเรายึดหลักการเหล่านี้ การพัฒนาประเทศก็จะทำให้คนทุกคนมาอยู่ร่วมกัน โดยที่ไม่ละเลยเสียงส่วนน้อย ถ้าเกิดว่าเราโปรโมทแนวนโยบายโดยที่ไม่มีหลักการประชาธิปไตย เช่นเราโปรโมทเรื่องเศรษฐกิจ แต่ไม่รับฟังเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือถ้าอยากให้คนมาเที่ยวน้ำตกตาดโตน สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของชัยภูมิมากๆ แต่ไม่เคยสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่มีการบริหารจัดการเรื่องขยะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือแม้แต่คนมาเที่ยว อยากให้มีความทันสมัยในชัยภูมิ โดยที่สิ่งทันสมัยเหล่านั้นจะก่อสร้างตรงไหนก็ได้ ตรงใจกลางเมืองก็ได้ คนมาเยอะดี ถ้าเป็นแบบนี้ เป็นการไม่คำนึงวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตคนในท้องที่ จึงเป็นเรื่องจะชูแนวทางคือการเป็นประชาธิปไตยในการพัฒนาเมือง’ นัฏฐิกา กล่าวทิ้งท้าย   ติดตามว่าที่ผู้สมัครท่านนี้ได้ทาง  https://www.facebook.com/NattikaLoweeraChaiyaphum/ https://www.youtube.com/watch?v=0nCnoKt8-EA